อุบลราชธานี - “วรวิทย์ สินทองน้อย” แพะซ้ำซ้อนถึง 2 คดี ถูกจำคุกนาน 7 ปี ขออโหสิกรรมไม่เอาเรื่องราวผู้คิดร้าย ดีใจได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวก็พอใจแล้ว พร้อมเดินทางพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอบคุณรัฐบาลช่วยเหลือ 30 พ.ค.นี้
สืบเนื่องจาก พ.ต.อ.ดุษฏี อารยะวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาร่วมปล่อยตัว นายวรวิทย์ สินทองน้อย อายุ 32 ปี ชาวบ้านเมืองใหม่ ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ซึ่งตกเป็น “แพะ” แบบซ้ำซ้อนถึง 2 คดี ทั้งข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นตาย และบงการค้ายาเสพติดจากในคุก ขณะถูกจองจำ ทำให้ต้องสูญเสียอิสรภาพนานถึง 7 ปี
คดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลฎีกาได้ยกฟ้องเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เพราะเชื่อตามหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ของ นายประสพ ธงธวัช ผู้เชี่ยวชาญด้านวิถีกระสุน และระยะการยิงจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ที่จำลองเหตุการณ์ขัดแย้งกับคำเบิกความของพยานฝ่ายพนักงานสอบสวนที่ทำคดีนี้ ศาลฎีกาจึงให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมร่วมกันทั้งหมด 5 คน
ส่วนอีก 1 ราย คือ นายไชยยันต์ สุนันทา ยังถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำ เนื่องจากไม่ได้ร่วมยื่นฎีกากับกลุ่มเพื่อน และขณะนี้ DSI อยู่ระหว่างขอเสนอหลักฐานใหม่ต่อศาล เพื่อขอให้มีการรื้อฟื้นคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นตายมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือนายไชยยันต์ ให้พ้นจากข้อหา
ส่วนคดีร่วมกันสมคบคิดกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (ยาบ้า) โดยใช้โทรศัพท์บงการให้มีการซื้อขายจำหน่ายยาเสพติดในพื้นที่อำเภอเดชอุดม ทั้งที่ยังถูกจองจำอยู่ในเรือนกลางจังหวัดอุบลราชธานี ตามคำซัดทอดของผู้ต้องหาเมื่อปี 2556 ทำให้ นายวรวิทย์ ต้องถูกอายัดตัวไว้ดำเนินคดีต่อ โดยไม่ได้รับการปล่อยตัวพร้อมเพื่อนชุดเดียวกันเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2559
ต่อมา ทนายความ และเจ้าหน้าที่ DSI ได้เข้ามาร่วมสอบสวน และนำพยานหลักฐานจากการสืบเสาะ โดยนำผู้บัญชาการเรือนจำ และผู้คุมในเรือนจำมาเบิกความ ว่า เรือนจำกลางอุบลราชธานี เป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูง มีอุปกรณ์ตัดสัญญาณการใช้โทรศัพท์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายวรวิทย์จะสั่งการค้ายาเสพติดออกมาจากเรือนจำได้ รวมทั้งระหว่างถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำ หรือก่อนที่นายวรวิทย์ จะถูกจำคุก ไม่มีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับคดียาเสพติดมาก่อน ศาลจังหวัดเดชอุดม จึงสั่งยกฟ้องนั้น
ล่าสุด วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ร้านดาราพรท่อไอเสีย ตั้งอยู่ถนนเดชอุดม-น้ำยืน บ้านเมืองใหม่ ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม นายวรวิทย์ ต้องคอยต้อนรับเพื่อนบ้าน คุณครูที่เคยสอนตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น และญาติผู้ใหญ่ในอำเภอที่ทราบเรื่องการปล่อยตัว ต่างเดินทางมาเยี่ยมปลอบขวัญให้กำลังใจ โดยขอให้นายวรวิทย์ ลืมเหตุการณ์ร้ายๆ และกลับมาตั้งหน้าตั้งตาประกอบอาชีพช่างทำท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวมานานกว่า 30 ปี
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ DSI ได้เดินทางมาพบเพื่อให้นายวรวิทย์ และเพื่อนที่ตกเป็นแพะในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นตาย เดินทางเข้าไปพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอบคุณที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือจนได้รับความเป็นธรรม วันอังคารที่ 30 พ.ค.นี้ด้วย
ด้านนายวรวิทย์ ซึ่งเดินสำรวจดูสภาพร้านทำท่อไอเสีย ที่ได้รับสืบทอดมาจาก นายวันชัย สินทองน้อย อายุ 60 ปี บิดาที่ปัจจุบันป่วยไม่สามารถซ่อมท่อไอเสียที่ทำมานานกว่า 30 ปีได้แล้ว โดยนายวรวิทย์ กล่าวว่า สืบทอดเป็นช่างทำท่อไอเสียรถยนต์มาตั้งแต่อายุได้ 13 ปี โดยมี นายวันชัยผู้เป็นพ่อสอนให้ ทำให้ครอบครัวมีรายได้วันละ 3,000-5,000 บาท ต่อมา ได้ไปเรียนสาขาช่างเชื่อมโลหะ ที่วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี เมื่อจบออกมาก็มารับช่วงงานทั้งหมดจากบิดาไปทำ เพราะบิดามีอายุมาก และมีโรคประจำตัว
แต่หลังถูกจองจำอยู่ในเรือนจำนานถึง 7 ปี ทำให้อู่รับซ่อมเกิดความชำรุดทรุดโทรม เครื่องไม้เครื่องมือบางส่วนสูญหายไป ต่อจากนี้จะปรับปรุงอู่ ซื้อวัสดุอุปกรณ์ช่างมาใช้รับงานซ่อมท่อไอเสียเจริญรอยตามผู้เป็นพ่อ
นายวรวิทย์ กล่าวถึงเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องและให้ปล่อยตัวจากคดีฆ่าผู้อื่นตาย ว่า ตนดีใจที่จะได้ออกไปพบหน้าคนครอบครัวที่คอยให้กำลังใจระหว่างที่ถูกจองจำมานานถึง 6 ปี แต่จู่ๆ เหมือนถูกสายฟ้าฟาด เมื่อทราบว่า พนักงานสอบสวน สภ.เดชอุดม ขออายัดตัวนายวรวิทย์ ไว้ดำเนินคดีต่อในข้อหาบงการให้มีการค้ายาเสพติดออกมาจากเรือนจำ ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออก ขณะนั้นรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในชะตากรรมชีวิต แต่ไม่คิดทำร้ายตัวเอง เพราะถ้าทำร้ายตัวเองก็เท่ากับทำร้ายคนในครอบครัวที่คอยให้กำลังใจ จึงเดินหน้าต่อสู้กับชีวิตต่อไปกระทั่งมีวันนี้
ส่วนเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดตนไม่ต้องการไปตอบโต้ หรือสร้างกรรมให้ใคร แต่หากคนที่ทำกับตนจะได้รับกรรม ก็ให้ได้รับกรรมจากผลกรรมที่คนนั้นทำขึ้นเอง ส่วนค่าชดเชยเยียวยาจากผลกระทบที่ถูกจองจำอยู่นาน 7 ปี มารดา และแฟนสาวได้ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอรับเงินเยียวยาช่วยเหลือตามระเบียนวันละ 400 บาท ส่วนเงินอื่นๆ ไม่ขอรับ และหลังจากเดินทางไปเยี่ยมขอบคุณบุคคลหลายฝ่ายที่เข้ามาช่วยเหลือตนเสร็จแล้ว จะหาฤกษ์บวชให้แก่เจ้ากรรมนายเวร บิดามารดา และเดินหน้าประกอบอาชีพต่อไป