xs
xsm
sm
md
lg

สนข. เดินเครื่องศึกษาระบบลอจิสติกส์ รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข.ประธานเปิดงาน
ศูนย์ข่าวศรีราชา - สนข. เดินเครื่องศึกษาระบบลอจิสติกส์รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต Super Cluster โดยเตรียมแผนพัฒนากว่า 100 โครงการ วงเงินรวมกว่า 6 แสนล้านบาท

วันนี้ (26 พ.ค.) ที่โรงแรมพูลแมน พัทยา จังหวัดชลบุรี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ EEC (ครั้งที่ 1) โครงการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายลอจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคต Super Cluster และประตูการค้าสำคัญของประเทศ

การสัมมนาครั้งนี้เพื่อนำเสนอกรอบแนวคิดการศึกษาและแนวทางการพัฒนาระบบเครือข่ายลอจิสติกส์ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดที่มีการศึกษา ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว และตราด เข้าร่วมสัมมนากว่า 150 คน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ภายใต้แผนพัฒนาประเทศที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบ Super Cluster ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในรูปแบบ Cluster คือ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแยกตามภาคการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่เมือง หรือจังหวัด

ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวางแผนพัฒนาระบบการขนส่ง จึงได้ทำการศึกษา และวิเคราะห์การพัฒนาระบบเครือข่ายลอจิสติกส์ ที่สามารถรองรับการพัฒนาทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายหลัก โครงข่ายรอง สิ่งอำนวยความสะดวก การขนถ่ายสินค้า

โดยรวมถึงกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ (Soft Side) เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนค่าขนส่ง (Transport Cost ต่อ GDP) และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งได้อย่างเป็นรูปธรรม โดย สนข. จะนำผลที่ได้จากการสัมมนาวันนี้ไปประกอบการศึกษา และพัฒนากรอบแนวทางสู่การกำหนดระบบเครือข่ายลอจิสติกส์ให้เกิดความเหมาะสม ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาต่างๆ ที่สำคัญ

สำหรับเนื้อหาสาระจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปแบบของอุตสาหกรรมในพื้นที่ ปัญหา อุปสรรค และแนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม ตลอดจนความต้องการด้านลอจิสติกส์ของภาคธุรกิจ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน เมื่อจบกระบวนการแล้วจึงนำผลที่ได้ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติต่อไป

นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ Super Cluster เป็นการรวมกลุ่มของธุรกิจ และกิจการที่ใช้เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมขั้นสูง เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

ขณะนี้การดำเนินกิจกรรมนั้นอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี โดยในอนาคตพื้นที่เหล่านี้จะมีการพัฒนาทั้งโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ และโครงการย่อยเพื่อพัฒนาโครงข่ายลอจิสติกส์ให้มีความสมบูรณ์ และคล่องตัว

โดยในแผนระยะปี 2560-2564 แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.ระบบราง เช่น รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง สถานีรถไฟอู่ตะเภา รถไฟเชื่อมต่อท่าเรือแหลมฉบัง-ทวาย รถไฟรางเบาเมืองพัทยา 2.ระบบขนส่ง ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ MotorWay สายกรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด การก่อสร้างปรับปรุงถนน จำนวน 51 โครงการ

3.ระบบการพัฒนาท่าเรือ ได้แก่ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ บริเวณจุกเสม็ด การเพิ่มศักยภาพท่าเทียบเรือขนส่งและการท่องเที่ยวสองฝั่งทะเลาอ่าวไทย และระบบอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินเรือ และ 4.ระบบขนส่งทางอากาศ ซึ่งได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกันรวมกว่า 100 โครงการ ในงบประมาณการลงทุนกว่า 605,806 ล้านบาท
มีหน่วยงานต่างๆร่วมฟังครั้งนี้จำนวนมาก
หลายๆหน่วยงานให้ความสนใจโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น