xs
xsm
sm
md
lg

“ทช.” ตามความคืบหน้าปะการังถูกลักลอบตัด เปิดเส้นทางส่งขายกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบเบาะแสกลุ่มคนร้าย แอบขโมยปะการังจานขนาดใหญ่ จากถ้ำอ่าวกรวด ชุมพร พบมีใบสั่งจากพ่อค้าในเมือง ลักลอบตามแนวชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร อธิบดี ทช.เรียกประชุมด่วน เพื่อติดตามความคืบหน้า พบเส้นทางการค้าตลาดปะการังอยู่ที่กรุงเทพฯ

วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ห้องประชุมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)ได้เป็นประธานการประชุมการจัดตั้งศูนย์พิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามนโยบายของรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติการแบบบูรณาการฯ ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

พร้อมติดตามความคืบหน้ากรณีการลักลอบตัดปะการังจาน จนได้รับความเสียหายในพื้นที่บริเวณอ่าวกรวด เกาะเวียง อ.ประทิว จ.ชุมพร ซึ่งเป็นจุดดำน้ำที่สนใจของนักท่องเที่ยว โดยมี นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และสำนักต่างๆ ของ ทช.ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และกล่าวถึงกรณีคนร้ายลักลอบขนปะการังในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลที่ 3 เพชรบุรี ประจวบฯ และชุมพร ลงพื้นที่สืบข่าว และหาข้อมูลในพื้นที่

ในเบื้องต้น เครือข่ายประมงชายฝั่งในพื้นที่อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทราบข้อมูลว่า มีกลุ่มที่ขโมยปะการังดังกล่าวมีประมาณ 3-5 คน เป็นบุคคลในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ปะทิว จ.ชุมพร

ขณะนี้เจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูลตัวบุคคล และที่อยู่เบื้องต้นแล้ว โดยกลุ่มคนเหล่านี้ใช้เรือหางยาวเป็นพาหนะ และกำลังสืบค้นหาหลักฐานในเชิงลึกต่อไปเนื่องจากสิ่งสำคัญที่จะเอาผิดได้ก็คือหลักฐาน สำหรับช่วงเวลาเกิดเหตุมีการลักลอบเป็นเวลากลางคืน

โดยอาศัยความมืดใช้เรือขนาดเล็กเข้าไปดำน้ำเก็บปะการัง หรือดอกไม้ทะเล ตามใบสั่งของพ่อค้า แล้วแพกเก็บซ่อนไว้ใต้น้ำ โดยนัดกับพ่อค้าส่งของบริเวณชายฝั่งที่ไม่มีจุดตายตัว เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งมีความยาวชายฝั่งกว่า 10 กิโลเมตร ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดนส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดในกรุงเทพฯ

ซึ่งการลำเลียง และการขนส่งนั้น น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า การขนส่ง และปลายทางของตลาดปะการัง หลังจากการนัดรับสินค้าบริเวณชายฝั่ง ซึ่งผู้รับสินค้าต่อจะใช้รถกระบะบรรทุกลังโฟม หรือถังไฟเบอร์ขนส่งมายังกรุงเทพมหานคร จะมีจุดพักสินค้าในระหว่างการลำเลียงขนส่ง และกำลังสืบหาข้อมูลที่ชัดเจนของจุดพักสินค้าดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้พบว่ากลุ่มที่ลักลอบตัดปะการังหลังได้ใบสั่ง และนำปะการังออกจากพื้นที่จากท่าเรือชายฝั่งในอำเภอบางสะพานน้อย และมีบรรทุกใส่รถยนต์ นำส่งปะการังไปให้นายทุนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งเข้าไปยังตลาดจตุจักร กรุงเทพฯ โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นส่วนที่นำไปจัดแสดงตามอะควาเรียม และประดับเพื่อความสวยงามในบ้าน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีฐานะ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เพิ่มแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ คือ เฝ้าระวังเรือต้องสงสัยที่เข้าใกล้พื้นที่ปะการังในเวลากลางคืน พร้อมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือต่อชาวประมงพื้นบ้านที่ทำการประมงอยู่บริเวณใกล้แนวปะการังให้ช่วยสอดส่องดูแล หากพบมีเรือ หรือบุคคลเข้าไปบริเวณกองปะการังในเวลากลางคืนให้แจ้งกลับมายังเจ้าหน้าที่ทันที และประชาสัมพันธ์ต่อผู้นำชุมชน ประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งให้รับทราบถึงความผิด และโทษทางอาญาของการลักลอบขนย้ายปะการัง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.ส.สุทธิลักษณ์ กล่าวว่า หลังรับทราบซึ่งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งชุมพร ได้ลงพื้นที่ติดตามความเสียหาย หลังจากชาวบ้านแจ้งว่ามีผู้ลักลอบตัดปะการังจาน ขนาดความกว้างกว่า 5 เมตร น้ำหนักราว 1,000 กิโลกรัม อายุนับพันปี ที่ทะเลชุมพร หลังชาวบ้านแจ้งพบถูกขโมย จนเสียหายแตกออกเป็นเสี่ยงๆ บางชิ้นมีขนาด 1 เมตร และสำรวจที่ด้านล่างพบแตกหักกระจัดกระจาย และได้เข้าแจ้งความที่ สภ.มาบอมฤต ไปแล้ว ซึ่งในวันนี้ยังได้มีการประชุมกับเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในส่วนต่างๆ ที่รับผิดชอบ ทั้งผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพชรบุรี ประจวบฯ ชุมพร เพื่อติดตามข้อมูลความคืบหน้าที่ศูนย์ประชุมแจ้งวัฒนะ

ด้าน นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขามูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม กล่าวว่า จากเหตุการณ์ เกิดในพื้นที่ อ.ประทิว จ.ชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบฯ เป็นพื้นที่ใกล้กัน เป็นสิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่มีคนบางกลุ่มบางรายดำเนินการตัดปะการัง ซึ่งเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติทางทะเล ที่ใช้เวลาการเจริญเติบโตที่ยาวนานมาก เรื่องนี้ทราบว่าทางเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับทราบข้อมูลจากเครือข่าวอนุรักษ์ไปแล้ว แต่สิ่งสำคัญต้องดำเนินการจัดการต่อกลุ่มคนที่ชอบลักลอบตัดปะการังขาย และตลาดแหล่งขายในกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 3-4 มิถุนายน 2560 นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ และคณะทำงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) สนองพระราชดำริ โดยมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการของมูลนิธิ ที่เกาะทะลุไฮแลนด์รีสอร์ท อ.บางสะพานน้อย และจะมีการนำเรื่องดังกล่าวรายงานในที่ประชุม เพื่อให้คณะกรรมการของมูลนิธิฯ ได้รับทราบ และช่วยกันเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เนื่องจากเกาะทะลุ มีแนวปะการังทีสวยงาม และกำลังฟื้นตัว เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลทรัพยากรทางทะเล




กำลังโหลดความคิดเห็น