xs
xsm
sm
md
lg

ลูกชุบ 2017 เจเนอเรชันที่ 3 “ลูกชุบนายคชาเมืองชล” ปลุกสีสันหวังไม่ให้ขนมไทยตายจากไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ฮือฮาขนมลูกชุบ 2017 ขนมไทยอิทธิพลโปรตุเกสหลากสีสัน เจเนอเรชันที่ 3 “ลูกชุบนายคชาเมืองชล” ต่อยอดธุรกิจครอบครัวพัฒนาเป็นรูปอาหารชวนน้ำลายสอ ปลุกตลาดด้วยแนวทางไทยแลนด์ 4.0 เพิ่มกระบวนยุทธ์เปิดสอนให้ผู้สนใจ หลักสูตร “วันเดียวทำเป็นอาชีพได้” หวังไม่ให้ขนมไทยตายจากไป

หากเอ่ยถึงขนมไทยอย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียง ด้วยความอร่อย รับประทานง่าย และมีสีสันโดดเด่นถูกใจลูกเด็กเล็กแดง ชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นขนมหวานที่อยู่คู่เมืองไทยมาช้านาน คงจะหนี “ขนมลูกชุบ” ไปเสียไม่ได้

จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า “ขนมลูกชุบ” นั้นเป็นขนมประจำถิ่นจากโปรตุเกส ก่อนแพร่หลายมาถึงเมดิเตอร์เรเนียนแถบประเทศฝรั่งเศศตอนใต้ โดยลูกชุบภาษาโปรตุเกสเรียกว่า Massapa’es เป็นขนมประจำถิ่นของแคว้นอัลการ์อิ ซึ่งใช้เม็ดแอลมอลด์เป็นวัตถุดิบ และส่วนประกอบสำคัญ ก่อนนำมากวนกับน้ำตาล และน้ำมันมะกอกปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ใช้สำหรับประดับหน้าเค้ก

จากข้อมูลทราบว่า เข้ามายังประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2199-2231 ด้วยการนำเข้ามาของ มาดามดอนญา มาเรีย กิอูมาร์ เดอ ปินา หรือที่รู้จักกันในนาม “ท้าวทองกีบม้า” ซึ่งเพี้ยนมาจาก กิอูมาร์ โดยการใช้เมล็ดถั่วเขียวมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักแทนเม็ดแอลมอลด์ จนกลายเป็นชื่อขนมลูกชุบ และมักนิยมทำขึ้นในวังเพื่อรับประทาน และมอบให้แก่เด็กๆ ในช่วงเทศกาลสำคัญ จนในที่สุดอิทธิพลของขนมลูกชุบ และขนมไทยจึงได้เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสมัยอุยธยา ตามที่ได้ปรากฏข้อความเป็นข้อความตามจดหมายเหตุหลายฉบับ

“ลูกชุบนายคชา” ตั้งอยู่เลขที่ 104/18 ม.2 ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี ร้านขนมไทยฟิวชันที่จำหน่ายทั้งขนมลูกชุบ ขนมปัง กาแฟ และเครื่องดื่มหลากหลายชนิด หลังจากพบว่าร้านดังกล่าวมีการต่อยอดทางปัญญาเพื่อสร้างจุดขายใหม่ทางการตลาดให้ขนมไทย หรือเรียกได้ว่า ปลุกความสดใส และความน่าสนใจให้ “ขนมลูกชุบ” กลับมามีชีวิตชีวาดึงดูดรายได้จากผู้ชื่นชอบบริโภคขนมไทยอีกครั้ง ด้วยการรังสรรค์รูปแบบขนมลูกชุบในยุคสมัยแห่งปีคริสตศักราช 2017 ให้ดูทันสมัย ด้วยการพลิกแนวคิดการทำลูกชุบในรูปแบบเดิมๆ คือ จากการทำเป็นรูปผักผลไม้เป็นรูปแบบอาหารจิ๋ว เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดขนมลูกชุบไทย

จากการพูดคุยกับนายสงกรานต์ เฉลยอาจ หรือน้องนัท นักศึกษาแผนกช่างยนต์ ปีที่ 1 วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก หรืออีเทคชลบุรี เจเนอรเรชันใหม่ของร้านลูกชุบนายคชา เปิดเผยว่า เดิมทีอาชีพการทำขนมลูกชุบนี้เริ่มมาจากคุณย่า ซึ่งเคยทำเป็นอาชีพตั้งแต่อยู่ที่นครสวรรค์มานานมากแล้ว ก่อนคุณพ่อซึ่งเคยช่วยคุณย่าทำ และจำหน่ายจะกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง และเริ่มทำมาตั้งแต่ตนเองจำความได้จนกลายเป็นธุรกิจของครอบครัวไปในที่สุด

ในอดีตจะมีเพียงขนมลูกชุบรูปผัก ผลไม้ และขนมฝอยทองจำหน่ายเท่านั้น เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงใหม่ เยาวชนรวมถึงคนรุ่นหลังก็จะลืมขนมไทยเก่าๆ ที่ส่วนตัวมองว่าเป็นมรดกที่ควรอนุรักษ์และสืบต่อเอาไว้รุ่นต่อรุ่น และไม่อยากให้หายไป

ในครอบครัวจึงพิจารณาเห็นพ้องตรงกันว่า ควรจะเปลี่ยนรูปแบบจากผัก และผลไม้แบบทั่วไป เป็นอาหารรูปแบบต่างๆ ในขนาดเล็ก เช่น หมูสะเต๊ะ หรือชุดน้ำพริกปลาทู นอกจากนี้ ยังมีในรูปแบบขนมชุบพวงมาลัยด้วยเช่นกัน ถือเป็นการสร้างจุดขายใหม่รองรับตลาดใหม่ๆ ที่เชื่อว่าจะได้รับความสนใจในสินค้าขนมไทยของร้านได้เป็นอย่างดี เพราะมองว่าเป็นความแตกต่างที่คนอื่นยังไม่ทำ

จนในที่สุดก็มีออเดอร์ขนมลูกชุบเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการโทรศัพท์มาสั่งตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ เราก็เป็นตัวกลางทำให้ ซึ่งฝีมือของตนเองยังจัดได้แค่ในระดับลูกมือคอยช่วยคุณพ่อทำถั่ว และปั้นถั่วเท่านั้น แต่ก็มีความตั้งใจจะสานต่อธุรกิจของครอบครัวต่อไปอย่างตั้งใจ

น้องนัท กล่าวต่อว่า ทางร้านลูกชุบนายคชา ได้เพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการนำเสนอประชาสัมพันธ์ขนมของร้านผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อเติมจากทางโทรศัพท์ หมายเลข 09-1884-1914 และ 09-7220-0141 ที่มีลูกค้าประจำใช้ติดต่อ เพิ่มเป็นทางเพจเฟซบุ๊ก ลูกชุบนายคชา และไลน์ไอดี JOJO 0852 เพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อเพื่อความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการสั่งไปจำหน่าย หรือสั่งไปทำบุญตามช่วงเทศกาลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทางร้านยังเปิดสอนการทำขนมลูกชุบให้บุคคลทั่วไปเป็นคอร์สเบสิก แบบวันเดียวจบ คือหลักสูตร “วันเดียวทำเป็นอาชีพได้” ที่จะเปิดสอนในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยเช่นกัน ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่เรียนรู้ในการสร้างอาชีพให้ผู้สนใจ ต่อยอดการสืบต่อขนมไทยได้เป็นอย่างดีอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันขนมลูกชุบได้มีการทำอย่างแพร่หลายทั้งในระดับครัวเรือน จนถึงระดับโรงงาน นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนเปิดสอนการทำขนมลูกชุบเกิดขึ้นอย่างมากกมาย รวมไปถึงโครงการต่างๆ ที่สนับสนุน และส่งเสริมการอนุรักษ์การทำขนมไทยด้วย

ส่งผลให้จากอดีตขนมลูกชุบที่ทำขึ้นเฉพาะภายในวังเพื่อมอบให้เด็กในโอกาสสำคัญ ปัจจุบันมีการแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น มีการสร้างรายได้นำมาประกอบเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลัก พร้อมมีการผลักดัน และสนับสนุนจากองค์กรหลักในการชักชวนให้คนไทยหันมาบริโภคขนมไทย ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งของคู่บ้านคู่เมืองไทยให้คงอยู่ตราบนิรันดร







กำลังโหลดความคิดเห็น