xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.กาฬสินธุ์ตั้งทีมตอบโต้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - สาธารณสุข จ.กาสินธุ์ตั้งทีมตอบโต้สถานการณ์ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าใน 4 อำเภอ จ.กาฬสินธุ์ เหตุเป็นพื้นที่เสี่ยงระบาดโรคพิษสุนัขบ้า หลังพบหัวสัตว์ติดเชื้อมากกว่า 50 หัว ตั้งเป้า อสม.เร่งเผยแพร่คาถาป้องกัน 5 ย.
นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์
วันนี้ (23 พ.ค. 60) ที่ห้องประชุมประชาสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นายแพทย์ พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ เปิดการประชุมซ้อมแผนขับเคลื่อนแผนเผชิญเหตุรองรับปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เพื่อตอบโต้สถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าใน จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด อำเภอฆ้องชัย และอำเภอกมลาไสย เป็นพื้นที่เสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า หลังมีการตรวจพบหัวสัตว์ Positive หรือติดเชื้อตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2560 ทั้งหมด 50 หัว โดยมีสาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล และแกนนำ อสม.ร่วมวางแผนรับมือ

นายแพทย์ พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ปลอดจากการระบาดโรคพิษสุนัขบ้ามานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แต่ปี 2559 สำนักระบาดวิทยาได้จัดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงของการระบาดโรคพิษสุนัขบ้า ที่ตรวจพบหัวสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมติดเชื้อในลักษณะ Positive มากกว่า 50 หัว ซึ่งภารกิจของนักวิชาการสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย รวมทั้ง อสม.จะต้องเข้ามามีบทบาทแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า

เป็นการตอบโต้สถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า โดยน้อมนำพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมีความห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่กำหนดกลยุทธ์ไว้ 6 ลำดับ ประกอบด้วย การเฝ้าระวังโรคในคน การป้องกันโรคในคน การควบคุมโรค การบูรณาการเครือข่าย การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และการศึกษาวิจัย

“บทบาทสำคัญอีกส่วนคือ อสม.ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน จะต้องเร่งดำเนินการเผยแพร่คาถาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 5 ย. คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง นอกจากนี้ ต้องเรียนรู้การป้องกันและการดูแลเมื่อถูกสัตว์กัด ข่วน และการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ รวมทั้งสังเกตอาการในคน การเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ และเมื่ออาการรุนแรงจะเกิดหายใจไม่ออก หรือชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต” นายแพทย์ พีระกล่าว


กรณีถูกกัดจะต้องรีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ รีบไปพบแพทย์ทันที และเฝ้าสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงอย่างน้อย 10 วัน หากพบว่าสัตว์เลี้ยงตายแสดงว่ามีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จะต้องรีบแจ้งกรมปศุสัตว์เพื่อส่งตรวจหาเชื้อโรค ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง และต้องรับยาให้ครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้เปิดสายด่วน 1422 ให้คำปรึกษาแก่ประชาชนโดยทั่วไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น