xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายประชาชนอีสานจี้ รมว.สาธารณสุข แก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพต้องเป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีหารือของเครือข่ายประชาชนจ.ขอนแก่น ถึงกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ณ ห้องประชุมภูผาม่าน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายภาคประชาชน จ.ขอนแก่น กว่า 15 ภาคีเครือข่าย เรียกร้อง รมว.สาธารณสุข ยุติกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ห่วงประเด็นแก้ลดบทบาท สปสช. ไม่ให้ สปสช.เจรจาต่อรองราคายา และจัดซื้อยา รวมถึงลดสัดส่วนคณะกรรมการจากภาคผู้แทนประชาชนลง ย้ำกระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่ต้องเกิดการมีส่วนร่วม เปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายประชาชนใน จ.ขอนแก่น กว่า 15 องค์กรภาคีเครือข่าย เช่น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายคนพิการจังหวัดขอนแก่น จัดประชุมร่วมกันเพื่อหารือท่าทีเรียกร้องให้ยุติกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ณ ห้องประชุมภูผาม่าน โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล อ.เมือง จ.ขอนแก่น

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทางเครือข่ายประชาชนเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ และบริการ คุ้มครองประชาชนทุกระบบให้มากขึ้น

หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะบิดเบือนเจตนารมณ์ของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนี้ 1.สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่สามารถขยายความคุ้มครองให้แก่คนไทยที่รอพิสูจน์สถานะ และคนบนผืนแผ่นดินไทย ทำให้คนไทยกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาล

2.การไม่ให้ สปสช.เจรจาต่อรองราคายาและจัดซื้อยาเองบางส่วน เพราะการตีความตามกฎหมายว่า สปสช.ไม่มีอำนาจจัดซื้อ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมาก เพราะยังไม่พบว่ามีระบบใดของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะมารองรับการจัดซื้อยาที่จำเป็น และมีราคาแพง จึงไม่สามารถรับรองได้ว่าหากเกิดปัญหายาขาดแคลนจนทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานทางกระทรวงจะจัดการปัญหาอย่างไร

3.โครงสร้างของสัดส่วนคณะกรรมการที่มาจากภาคผู้แทนประชาชนจะลดลง เนื่องจากมีกรรมการที่มาจากวิชาชีพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะลดบทบาทคณะกรรมการในส่วนของตัวแทนภาคประชาชนลง 4.สำนักงาน สปสช.ถูกควบคุมมากขึ้น และสุดท้ายงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ จะถูกส่งตรงไปยังหน่วยบริการมากขึ้น เป็นการตอกย้ำว่างานด้านสุขภาพไม่ใช่เป็นเรื่องของทุกคนแต่เป็นเรื่องของหน่วยให้บริการสาธารณสุขเท่านั้น

เพื่อให้กระบวนการแก้ไขกฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและบริการ คุ้มครองสิทธิประชาชนให้มากขึ้นทั้ง 3 ระบบ ทางเครือข่ายประชาชนในจังหวัดขอนแก่น จึงเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขกฎหมาย

ให้ยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมาย และเริ่มกระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพิ่มสัดส่วนจากภาคประชาชน ให้เปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ในนามเครือข่ายประชาชนจะติดตาม และเคลื่อนไหวต่อไปจนกว่าจะได้กฎหมายที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น