xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เคยขาดแคน “บ้านท่าเรือ” ผลิตเครื่องดนตรีอีสานส่งขายทั่วโลกโกยเงินนับ 100 ล้านบาท/ปี(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - โอ!น่าทึ่ง หมู่บ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม ไม่เคยขาดแคน ผลิตพิณ แคน โหวดขายทั่วประเทศ และต่างประเทศ โกยปีละ 100 ล้าน ที่เดียวในโลก สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างอาชีพ เศรษฐกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์



“บ้านท่าเรือ” ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม ถือเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวของภาคอีสาน ที่มีชื่อเสียงดังไปทั่วโลก เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้มีการสืบสานอาชีพจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จากรุ่นสู่รุ่น จนตกทอดมาสู่ลูกหลาน เป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปี ในการผลิตเครื่องดนตรีอีสาน พิณ แคน โหวด ออกจำหน่าย

โดยในอดีตริเริ่มทำแค่ในครัวเรือน หารายได้เสริมหลังฤดูกาลทำนา จนกระทั่งมีการพัฒนาต่อยอดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพการผลิตให้เป็นที่ยอมรับของตลาดเครื่องดนตรีอีสาน ทำให้ปัจจุบัน เครื่องดินตรีอีสาน พิณ แคน โหวด ที่ผลิตขึ้นจากบ้านท่าเรือแห่งนี้กลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่ส่งออกขายไปทั่วประเทศ และต่างประเทศ มีเงินหมุนเวียนปีละกว่า 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวที่มีการเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชน ส่งเสริม สนับสนุนในเรื่องของการสืบสานอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ผลิตเครื่องดนตรีอีสานให้ลุกหลาน เยาวชนได้สืบทอด รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวที่สนใจได้มาศึกษาเยี่ยมชม


คุณตานุช แมดมิ่งเหง้า อายุ 80 ปี ถือเป็นต้นตำรับของอาชีพคนทำแคน ที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย โดยคุณตาเปิดเผยถึงอาชีพคนทำแคน ว่า ตนได้สืบทอดวิชาทำแคนมาจากคุณปู่ เริ่มฝึกทำแคน ตั้งแต่อายุ 15 ปี มาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 60 ปี ที่เรียนรู้ พัฒนาฝีมือเพื่อให้มีเสียงที่ออกมามีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของตลาด

ที่สำคัญในการทำแคนจะไม่มีโรงเรียน หรือสถาบันสอน แต่จะต้องมีการเรียนรู้พัฒนาจากภูมิปัญญาชาวบ้านเท่านั้น

“การทำแคนจะเป็นความสามารถ ความชำนาญเฉพาะบุคคล เพื่อให้เสียงแคนออกมาไพเราะ ส่วนแคนจะประดิษฐ์ขึ้นจากไม้ไผ่คู่แคนที่นำมาจากฝั่งลาว เพราะบ้านเราหายาก จากนั้นจะนำมาคัดเลือกเอาลำไม้ไผ่คู่แคนที่สวยงามมาตากแดด ลมควันให้ได้คุณภาพ ก่อนนำมาตัดให้ได้ขนาด ตามวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน ก่อนนำมาประกอบใส่ลิ้นให้เกิดเสียง” คุณตานุช บอกและเล่าอีกว่า

ลิ้นแคน ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เสียงไพเราะ ไม่ไพเราะจะต้องขึ้นอยู่กับการประกอบลิ้นที่ต้องมีความชำนาญ ซึ่งลิ้นแคนจะมี 2 ชนิด คือ ลิ้นเงิน จะมีเสียงดีนุ่มนวล ทำจากเงินเหรียญบาทสมัยโบราณ มาหลอมผสมทองแดง ก่อนแปรรูปออกมาเป็นเส้น และนำมาตีเป็นลิ้น ทำหน้าที่ควบคุมลมเข้าออกให้เกิดเสียง ชนิดที่ 2 คือ ลิ้นทอง ทำมาจากทองแดงที่หลอมจากเหรียญสตางค์แดง เพราะจะได้ทองแดงบริสุทธิ์

หลังจากนั้น จะมีการเทียบเสียงจากเครื่องเทียบเสียงให้ได้เสียงเข้ากับคีย์มาตรฐาน แล้วนำไปประกอบกับเต้าแคน ที่ทำจากไม้รักษ์ หรือชาวอีสานเรียกว่าไม้หนามเกลี้ยง เพราะมีเนื้อลวดลายสวยงาม ซึ่งในการประกอบจะใช้ความชำนาญส่วนตัวที่ฝึกฝนมา เพื่อให้ได้แคนที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด


สำหรับแคนมาตรฐานจะมีขนาดทั้งหมด 6 - 7 - 8 - 9 คือ นับจากจำนวนคู่ไม้ไผ่ที่นำมาประกอบ ส่วนใหญ่จะใช้มากที่สุดคือ แคน 8 จะมีทั้งหมด 8 คู่ ความยาวประมาณ 1.5 เมตร ใช้เวลาในการประกอบประมาณเต้าละ 2-3 วัน ราคาขายแคนลิ้นเงิน จะมีราคาประมาณเต้าละ 1,000-1,200 บาท นอกจากนี้ ยังมีแคนชนิดสั่งทำพิเศษ จะมีราคาสูง ประมาณ 5,000-7,000 บาท สามารถสั่งทำได้ตามความต้องการ

ด้าน นายพรศักดิ์ ชาสงวน อายุ 33 ปี ทายาทหมอแคน ชาวบ้านท่าเรือ กล่าวถึงอาชีพคนทำแคน ว่า ตนเริ่มฝึกทำแคนจากพ่อแม่ มาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เริ่มจากเป็นลูกมือศึกษาเรียนรู้มาต่อเนื่องจนสามารถผลิตแคนได้เอง ไม่ว่าคนจะมองอย่างไรสำหรับอาชีพคนทำแคน สำหรับตนมองว่า เป็นอาชีพสุจริตที่ภาคภูมิใจ หาเงินเลี้ยงครอบครัวได้สบาย ไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น เพราะการทำแคนไม่ได้มีโรงเรียน หรือสถาบันสอน

แต่เป็นการสืบสานภูมิปัญญาวิถีชีวิตท้องถิ่นที่ตนได้สืบทอดมาไม่ให้สูญหาย ไม่เพียงสืบทอดวิชาทำแคนเท่านั้น ยังได้สืบทอดวิชาหมอแคน สามารถเป่าแคนได้ด้วย แต่ละเดือนตนสามารถทำแคนส่งออกขาย สร้างรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาต่อยอดประดิษฐ์แคน ให้มีลวดลายสวยงาม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า รวมถึงมีการทำปี่นก และโหวด ขายเป็นรายได้เสริมอีกทาง


ขณะที่ นายประหยัด ชัยบิน อายุ 56 ปี ผู้ใหญ่บ้านท่าเรือ หมู่ 2 ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม ประธานกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดนตรีอีสานตำบลท่าเรือ เปิดเผยว่า บ้านท่าเรือ นับเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวของไทยที่มีการสืบสานนำเอาอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำเครื่องดนตรีอีสาน พิณ แคน โหวด ส่งขายสร้างรายได้มานานกว่า 40 ปี

เมื่อถึงช่วงฤดูแล้งของทุกปี ชาวบ้าน ต.ท่าเรือ จะมีการสั่งซื้อไม้ไผ่ลูกแคนมาจากฝั่งลาว เพื่อเป็นวัตถุดิบในการประดิษฐ์ แคน โหวด ส่งขายในช่วงหน้าแล้ง ไปจนถึงฤดูกาลทำนาปี ช่วงฤดูฝน บางรายขยันมีการสต๊อกวัตถุดิบ ทำให้สามารถผลิตขายได้ตลอดปี

ส่วนใหญ่จะผลิตแคนเป็นหลักที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ประกอบด้วย แคน 6 และแคน 8 ที่ต้องใช้ความชำนาญจากภูมิปัญญาชาวบ้านประดิษฐ์ขึ้น มีทั้งแคน ลิ้นเงิน และลิ้นทอง ที่จะมีเสียงไพเราะแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ตลาดวงดนตรีหมอลำจะสั่งซื้อแคนลิ้นเงิน เนื่องจากมีเสียงไพเราะกว่า

ส่วนราคาแคนลิ้นทอง จะมีราคาขายประมาณเต้าละ 1,000 บาท ส่วนแคนลิ้นทอง จะมีราคาประมาณเต้าละ 600 บาท ซึ่งจะมีตลาดมาสั่งซื้อไปขายตลอดปี

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดนตรีอีสาน ประเภทโหวด มีราคาขาย ชิ้นละประมาณ 150-200 บาท ตามขนาด รวมถึงพิณสามสาย เครื่องดนตรีอีสานที่สร้างความไพเราะ จะประดิษฐ์ขึ้นจากไม้ขนุน หรือไม้ประดู่ มีทั้งพิณโปร่ง และพิณไฟฟ้า มีราคาขายประมาณชิ้นละ 1,500-2,000 บาท แล้วแต่การออกแบบ โดยทุกปีชาวบ้านท่าเรือ จะมีเงินหมุนเวียนสะพัดจากการผลิตเครื่องดนตรีอีสาน ส่งออกขายปีละกว่า 100 ล้านบาท สร้างรายได้ในครัวเรือนเดือนละประมาณ 20,000-30,000 บาท

ทำให้ปัจจุบันบ้านท่าเรือ ได้เป็นหมู่บ้านเครื่องดนตรีอีสานที่เป็นแหล่งผลิต พิณ แคน โหวด ที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยได้ร่วมกับ อบต.ท่าเรือ ตั้งศูนย์เรียนรู้ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้มาศึกษาเยี่ยมชม รวมถึงสร้างความความมือกับโรงเรียนในพื้นที่นำเป็นหลักสูตรให้ลูกหลานเยาวชนได้ศึกษาสืบทอดวิชาทำ พิณ แคน โหวด ไปจนถึงการเป่าแคน เล่นดนตรีอีสาน สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ครบวงจร

“ทุกปีชาวตำบลท่าเรือ จะมีการจัดงานวันเสียงแคนดัง ในการจัดกิจกรรมการแสดงเกี่ยวกับการสืบสานประเพณี การเป่าแคน เล่นดนตรีอีสานที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวในพื้นที่” นายประหยัด กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น