xs
xsm
sm
md
lg

สวนสัตว์เชียงใหม่เฮรับ “ม้าเทวดา” สมาชิกเกิดใหม่ ผลสำเร็จตัวแรกจากการวิจัยขยายพันธุ์หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สวนสัตว์เชียงใหม่ประสบความสำเร็จการวิจัยและเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ได้ลูกกวางผา หรือ “ม้าเทวดา” 1 ตัว หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย เบื้องต้นสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่ยังไม่ทราบเพศเพราะตัวแม่หวงเฝ้าใกล้ชิด ไม่ยอมให้พี่เลี้ยงเข้าใกล้

นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สวนสัตว์เชียงใหม่ได้รับสมาชิกเกิดใหม่ เป็นลูกกวางผา จำนวน 1 ตัว ที่เพิ่งออกจากท้องแม่ช่วงเช้าวันนี้ (19 พ.ค. 60) ที่โรงพยาบาลสัตว์ของสวนสัตว์เชียงใหม่ โดยเบื้องต้นพบว่าสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบเพศเนื่องจากตัวแม่หวงและไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ดูแลเข้าถึงตัว นอกจากเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิดที่สุด ทั้งนี้ ลูกกวางผาที่เพิ่งเกิดตัวนี้ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการวิจัยและเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ เพราะกวางผา หรือม้าเทวดา เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย

โดยลูกกวางผาตัวนี้นับเป็นตัวแรกที่เกิดในสวนสัตว์เชียงใหม่ จากพ่อชื่อภูผา อายุ 10 ปี ที่ได้มาจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และแม่ชื่อทองกวาว อายุ 3 ปี จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ปัจจุบันสวนสัตว์เชียงใหม่มีกวางผารวมทั้งสิ้น 4 ตัว จากก่อนหน้านี้ที่มีอยู่ 3 ตัว เป็นตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมีย 2 ตัว ส่วนลูกที่เพิ่งเกิดยังไม่ทราบเพศ

สำหรับกวางผานั้นเป็นสัตว์จำพวกแพะแกะเช่นเดียวกับเลียงผา แต่มีขนาดเล็กกว่า เมื่อโตเต็มที่มีความสูงที่ไหล่มากกว่า 50 เซนติเมตร เพียงเล็กน้อย และมีน้ำหนักตัวประมาณ 30 กิโลกรัม ขนบนลำตัวสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลปนเทา มีแนวสีดำตามสันหลงไปจนจดหาง ด้านใต้ท้องสีจางกว่าด้านหลัง หางสั้นสีดำ เขาสีดำมีลักษณะเป็นวงแหวนรอบโคนเขา และปลายเรียวโค้งไปทางด้านหลัง

ขณะที่พฤติกรรมจะออกหากินตามที่โล่งในตอนเย็น และตอนเช้ามืด หลับพักนอนตามพุ่มไม้ และชะง่อนหินในเวลากลางคืน อาหารได้แก่ พืชที่ขึ้นตามสันเขาและหน้าผาหิน เช่น หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกลูกก่อ กวางผาอยู่รวมกันเป็นฝูงๆละ 4-12 ตัว ผสมพันธุ์ในราวเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ออกลูกครอกละ 1-2 ตัว ตั้งท้องนาน 6 เดือน

ส่วนถิ่นที่อาศัยของกวางผานั้นจะอยู่บนยอดเขาสูงชัน สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 1,000 เมตร มีเขตแพร่กระจายตั้งแต่แคว้นแพร่กระจาย ตั้งแต่แคว้นแคชเมียร์ลงมาจนถึงแคว้นอัสสัมของอินเดีย, จีนตอนใต้, พม่า และตอนเหนือของประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยมีรายงานพบกวางผาตามภูเขาที่สูงชันในหลายบริเวณ เช่น ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ดอยเลี่ยม ดอยมือกาโด จังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณสองฝั่งลำน้ำปิงในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดตาก

ทั้งนี้ สถานภาพกวางผาจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน 15 ชนิดของประเทศไทย และอนุสัญญา CITES โดยสาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์นั้น เนื่องจากการบุกรุกถางป่าที่ทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาในระยะเริ่มแรกและชาวบ้านในระยะหลัง ทำให้ที่อาศัยของกวางผาลดน้อยลง เหลืออยู่เพียงตามยอดเขาที่สูงชัน ประกอบกับการล่ากวางผาเพื่อเอาน้ำมันมาใช้ในการสมานกระดูกที่หักเช่นเดียวกับเลียงผา จำนวนกวางผาในธรรมชาติจึงลดลงเหลืออยู่น้อยมาก





กำลังโหลดความคิดเห็น