เชียงราย - กรมการขนส่งทางบกเริ่มเดินหน้าโครงการศูนย์ฯ ขนส่งสินค้าเชียงของเชื่อมเส้นทาง R3a หลังติดปัญหาที่ดินยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 53 ล่าสุดชง ครม.รับทราบ ใช้งบผูกพัน 3 ปีกว่า 2 พันล้าน รองรับการค้าผ่านไทย-ลาว-จีน มูลค่าปีละกว่าหมื่นล้าน
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ หน้าด่านพรมแดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว ก่อนถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขง ไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่ค้างคามาตั้งแต่ปี 2553 กำลังเดินหน้าอีกครั้ง เพื่อเชื่อมระบบขนส่งเข้าถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร
ล่าสุดทางกรมการขนส่งทางบกแจ้งว่าได้แก้ไขปัญหาที่ดินเสร็จเรียบร้อย และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง ครม.มีมติรับทราบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 แล้ว
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยที่เชียงรายว่า โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีการออกแบบ-เจรจาเรื่องที่ดิน ที่ต้องใช้เนื้อที่มากถึง 330 ไร่ 18 ตารางวา อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ที่ดินหน้าด่านพรมแดน อ.เชียงของ มีผู้ถือเอกสารสิทธิหลายประเภท ทั้งโฉนดที่ดิน, น.ส.3 , ส.ป.ก. ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีการเจรจาเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ส่วนใหญ่ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เหลือเพียงบางรายเท่านั้นที่ยังไม่ยินยอม ซึ่งก็ต้องว่ากันตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป เพราะถือว่าได้ผ่านกระบวนการเวนคืนที่ดิน และนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อการก่อสร้างตามกฎหมายแล้ว
“ศูนย์ดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าชายแดนเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำโขง ไทย-สปป.ลาว เป็นจุดตรวจสอบ ณ พื้นที่ควบคุมร่วมกัน และพัฒนาการขนส่งสินค้าจากจีนผ่านถนน R3a ภายในมีทั้งสำนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริการ ณ จุดเดียว ทั้งคลังสินค้า อาคารอื่นๆ ที่่เกี่ยวข้อง โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมบริหารจัดการ โดยเฉพาะด้านการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ยกขน อุปกรณ์สำนักงานต่างๆ” นายกมลกล่าว
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกบอกว่า รูปแบบของศูนย์ฯ จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบทั้ง CIQ คือ พิธีการศุลกากร (Custom) การตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) ด่านตรวจกักกันพืชและสัตว์ (Quarantine) ทำให้การขนส่งสินค้าไป-มาสามารถเข้าใช้บริการที่ศูนย์ฯ จุดเดียว
และในอนาคตก็คงจะมีการหารือกับทางด่านพรมแดนด้าน สปป.ลาว เพื่อให้การตรวจสอบสินค้าและยานพาหนะร่วมกันในด่านฯ เดียว นอกจากนี้ยังออกแบบระยะที่ 2 รองรับการขนส่งระบบราง ตามโครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย อีกด้วย
นายกมลกล่าวว่า โครงการนี้จะใช้งบประมาณผูกพัน 3 ปีตั้งแต่ปี 2560- 2562 รวม 2,265.0655 ล้านบาท เป็นค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์วงเงิน 779.9615 ล้านบาท ค่าศึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียด และการบริหารจัดการโครงการ 27.88 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษา 8.54 ล้านบาท ดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนด้านการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสม 15 ล้านบาท และคัดเลือกเอกชนที่จะเข้าร่วมทุน 5.364 ล้านบาท ทำการก่อสร้างระยะที่ 1 จำนวน 1,406.02 ล้านบาท และควบคุมงานก่อสร้างอีก 22.3 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการระยะที่ 1 จะมีการสร้างอาคารดำเนินการ ลานเปลี่ยนหัวลาก คลังสินค้า ฯลฯ เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะสามารถรองรับการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ได้ปีละกว่า 27,000 ตัน และรองรับปริมาณสินค้าได้วันละกว่า 6,652 ตัน รถยนต์บรรทุกวันละ 262 คัน สินค้าที่จะมีการขนมากคือประเภทผัก ผลไม้ สินแร่ ปูน เคมีภัณฑ์ ทองแดง ฯลฯ
ขณะที่มีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงินกรณีอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return หรือ IRR) 12.3% และมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิ (Net Present Value หรือ NPV) 58 ล้านบาท และความคุ้มค่าทางการเงินกรณี IRR 15.1% และ NPV 0.03 ล้านบาท
สำหรับการค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงของ จ.เชียงราย ปี 2559 มีการนำเข้าสินค้ามูลค่า 5,983,089,945.05 บาท ส่วนใหญ่เป็นผักสด ดอกไม้ ผลไม้ ถ่านลิกไนต์ ฯลฯ และส่งออกสินค้ามูลค่า 14,611,274,840.56 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลไม้สด สินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ และตั้งแต่เดือน ต.ค. 59-มี.ค. 60 มีการนำเข้ามูลค่า 2,494,989,198.76 บาท และส่งออกมูลค่า 7,475,285,474.58 บาท