xs
xsm
sm
md
lg

รมว.พม.มอบบ้านพอเพียงให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนในราชบุรี 191 หลัง ตั้งเป้าปีนี้ 9,000 ครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.อดุลย์  แสงสิงแก้ว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ราชบุรี - พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. เป็นประธานมอบบ้านพอเพียงชนบทให้ประชาชนที่ยากจนเดือดร้อนในจังหวัดราชบุรี รวม 191 ครัวเรือน และเตรียมช่วยเหลืออีก 520 ครัวเรือนในปีต่อไป เผยเป้าหมาย 5 ปีทั่วประเทศ รวม 352,000 ครัวเรือน ตั้งเป้าปีนี้ 9,000 ครัวเรือน สร้างไปแล้ว 2,131 หลัง ผอ.พอช.ย้ำให้ชุมชน ท้องถิ่น และผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำโครงการ “บ้านพอเพียงชนบท” ขึ้นมาในปี 2559 มีเป้าหมายซ่อมสร้างบ้านเรือนประชาชนในชนบทที่มีฐานะยากจนและมีความเดือดร้อนทั่วประเทศ โดยให้ชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นแกนหลัก พอช.สนับสนุนงบประมาณซ่อมสร้างไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท ขณะนี้ผลการดำเนินโครงการคืบหน้าไปตามลำดับขั้น มีบ้านเรือนทั่วประเทศที่ซ่อมสร้างเสร็จไปแล้วจำนวน 2,131 ครัวเรือน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะ ได้เดินทางมามอบบ้านพอเพียงให้แก่ประชาชนที่มีฐานะยากจนและมีความเดือดร้อนในจังหวัดราชบุรี จำนวน 191 ครัวเรือน มีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม เช่น นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ผู้แทนกองพลพัฒนาที่ 1 สำนักงานการเคหะชุมชนราชบุรี ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดราชบุรี ฯลฯ โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ให้การต้อนรับ และมีชาวบ้านจากตำบลต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.ราชบุรี กล่าวว่า จังหวัดราชบุรี มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นเมืองเกษตรสีเขียว เศรษฐกิจมั่นคง สังคมมีความสุข และในการสร้างสังคมมีความสุขมีเรื่องที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การที่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสมีความเป็นอยู่ที่เป็นสุขด้วย ซึ่งบ้านคือปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้คนมีความสุข การเกิดโครงการบ้านพอเพียงชนบทขึ้นทำให้ผู้ด้อยโอกาสได้มีโอกาสอยู่อาศัยในบ้านได้อย่างอบอุ่น สบายใจ มีความสุข

“ในปี 2560 นี้ จังหวัดราชบุรีได้ดำเนินโครงการไปแล้ว 14 ตำบล มีผู้รับประโยชน์ 191 หลังคาเรือน โครงการนี้ทำให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น กองพลพัฒนาที่ 1 การเคหะชุมชนราชบุรี ท้องถิ่นแต่ละตำบล บริษัทเอกชน หน่วยงาน CSR ในพื้นที่ และจะมีการดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 จะบรรจุเป็นแผนการดำเนินงานของจังหวัดราชบุรีอีกจำนวน 520 หลังคาเรือน และจะดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป” ผวจ.ราชบุรีกล่าว
นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
นายสุรินทร์ ตำหนิงาม ผู้แทนขบวนองค์กรชุนจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า โครงการบ้านพอเพียงจังหวัดราชบุรีได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ยากจน ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย โดยขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดราชบุรีเป็นผู้รับผิดชอบ มีการสำรวจผู้เดือดร้อนในจังหวัดราชบุรี เบื้องต้นมีผู้เดือดร้อน 255 หลังคาเรือน และจัดลำดับความเดือนร้อนที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน 191 หลังคาเรือน ในพื้นที่ 14 ตำบลในจังหวัดราชบุรี ขณะนี้ซ่อมสร้างเสร็จไปแล้ว 178 หลังคาเรือน ส่วนที่เหลืออีก 13 หลังคาเรือน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ รวมงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. 3.1 ล้านบาทเศษ ส่วนผู้เดือดร้อนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจะมีการสำรวจและดำเนินการซ่อมสร้างต่อไป

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 25 ล้านครัวเรือน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน และในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยและมีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยกว่า 2 ล้านครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้มองเห็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย 10 ปีขึ้นมา

“รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความห่วงใยเรื่องที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศที่มีรายได้น้อย มีบ้านเรือนแออัด ทรุดโทรม อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จึงมอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดทำแผนงานแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของพี่น้อง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วหลายโครงการ เช่น บ้านประชารัฐริมคลอง บ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา และปทุมธานีโมเดล โดยช่วยเหลือประชาชนที่ปลูกบ้านรุกล้ำแม่น้ำลำคลอง ให้มีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคงสวยงาม ส่วนโครงการบ้านพอเพียงก็จะดำเนินการช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนของพี่น้องที่มีรายได้น้อย มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ให้เป็นบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง เหมาะสมกับการอยู่อาศัย และเมื่อซ่อมแซมบ้านเสร็จแล้ว ต่อไปก็จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องให้ดีขึ้นด้วย” พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า พอช.ได้จัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อรองรับชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ทั้งในเมืองและชนบท ระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2568 รวม 1,044,510 ครัวเรือน แยกเป็น 1.ชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อยในเมือง จำนวน 692,752 ครัวเรือน (บ้านมั่นคง 680,808 ครัวเรือน, ชุมชนริมคลอง 11,004 ครัวเรือน, และคนไร้บ้าน 698 ครัวเรือน) 2. ผู้มีรายได้น้อยในชนบท ภายใต้โครงการ “บ้านพอเพียงชนบท” จำนวน 352,000 ครัวเรือน เป้าหมาย 5,300 ตำบลทั่วประเทศ (ระยะเวลา 5 ปี พ.ศ. 2559-2563)

“โครงการบ้านพอเพียงชนบท จะรองรับครัวเรือนยากจนในชนบทที่มีปัญหาความเดือดร้อนที่ดินและที่อยู่อาศัย สภาพที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงแข็งแรง รวมทั้งพื้นที่ประสบภัยพิบัติและที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย ผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ตำบล หรือประสบปัญหาถูกไล่รื้อในชนบท รวม 352,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดยในปี 2559 มีเป้าหมาย 9,000 ครัวเรือน ขณะนี้ดำเนินซ่อมสร้างเสร็จแล้ว 2,131 ครัวเรือน ส่วนที่เหลือจะดำเนินการต่อไปเพื่อให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย โดยจะเน้นให้ชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งครัวเรือนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลัก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะเป็นหน่วยงานสนับสนุน” นายสมชาติกล่าวในตอนท้าย

นายสุวรรณ หนูน้อย อายุ 57 ปี อาชีพรับจ้างก่อสร้าง ชาวบ้านตำบลห้วยไผ่ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับงบประมาณช่วยเหลือ กล่าวว่า ตนอาศัยอยู่คนเดียวในบ้านหลังเก่าที่มีสภาพทรุดโทรม หากฝนตกลมแรง ฝนก็จะสาดเข้าใส่บ้าน เมื่อประมาณต้นปีผู้ใหญ่บ้านมาสำรวจบ้านเรือนที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย และตนได้รับคัดเลือกให้ได้รับการช่วยเหลือซ่อมแซมบ้าน แต่เนื่องจากบ้านหลังเดิมมีสภาพเก่า ผุพัง จึงอยากจะสร้างบ้านหลังใหม่ โดยได้รับการช่วยเหลือเป็นวัสดุก่อสร้างมูลค่า 16,000 บาท และนำเงินของตัวเองมาสมทบเพื่อซื้อวัสดุอีกประมาณ 35,000 บาท เช่น หลังคา โครงอลูมิเนียม แผ่นซีเมนต์มาประกอบเป็นฝาบ้าน ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 4 เดือน ตอนนี้ใกล้จะเสร็จแล้ว

“ดีใจครับที่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะไม่คิดว่าจะมีบ้านใหม่เป็นของตัวเอง บ้านเดิมเป็นกระต๊อบหลังเล็กๆ เวลาฝนตก ฝนก็จะสาดเข้ามา ส่วนบ้านหลังใหม่นี้ผมสร้างเอง ก็รู้สึกภูมิใจ” นายสุวรรณ กล่าว

บ้านหลังเก่าของนายสุวรรณ หนูน้อย
นายสุวรรณ   หนูน้อย กับบ้านหลังใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น