xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงอุตฯ เดินหน้าโครงการ OPOAI ดูการผลิตสินค้าหนังจระเข้ อ.ศรีราชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กระทรวงอุตฯเดินหน้าโครงการ OPOAI ดูการผลิตสินค้าหนังจระเข้  อ.ศรีราชา
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าโครงการ OPOAI เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ก้าวไปสู่ อินดัสทรี 4.0 โดยมาดูกระบวนการผลิตสินค้าจากหนังจระเข้ ของบริษัทศรีราชาฟาร์ม เอเชีย จำกัด

วันนี้ (16 พ.ค.) ที่บริษัท ศรีราชาฟาร์ม (เอเชีย) จำกัด อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI (โอปอย) ภายใต้การกำกับการดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นโครงการที่เกิดจากความพยายามของภาครัฐที่ได้น้อมนำปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 มาปรับใช้และนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ

โดยดึงศักยภาพของวัตถุดิบในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และสอดคล้องต่อนโยบายรัฐบาลในเรื่องการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 โดยมี นายสุชาติ ปัญญาสาคร รองประธานกรรมการ บริษัท ศรีราชาฟาร์ม (เอเชีย) จำกัด ให้การต้อนรับ

นายสมชาย เปิดเผยว่า โครงการ OPOAI (โอปอย) ได้จัดทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านแผนงานพัฒนาที่ครอบคลุมใน 8 ด้าน ประกอบด้วย แผนงานบริหารจัดการลอจิสติกส์ แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แผนการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน แผนการลดต้นทุนพลังงาน แผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด แผนบริหารจัดการด้านการเงิน และแผนการจัดการสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

ซึ่งการทำงานของทีมที่ปรึกษาจะเข้าไปศึกษาข้อมูลของสถานประกอบการจากคณะผู้บริหารของสถานประกอบการ เพื่อดูว่าสมควรที่จะเข้าพัฒนาในแผนงานไหนมากที่สุด เมื่อได้ข้อสรุปทางทีมที่ปรึกษาจะมีแผนการดำเนินงานให้ปฏิบัติจริง และติดตามผล พร้อมทั้งให้คำปรึกษาเป็นระยะๆ รวมระยะเวลาในการปฏิบัติงานโดยประมาณ 4-6 เดือนจึงจะเสร็จสิ้นโครงการ

สำหรับในปีงบประมาณ 2560 มีสถานประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ จำนวน 171 ราย จำนวนแผนงาน 260 แผนงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างตรวจติดตามการดำเนินโครงการ
สินค้าที่ผลิตจากหนังจระเข้
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในพื้นที่
กำลังโหลดความคิดเห็น