กาฬสินธุ์ - พ่อเมืองน้ำดำเบรกงบโครงการกาฬสินธุ์ 3 ดี กว่า 30 ล้านบาท หลังปราชญ์ชาวบ้านโวยไม่ต่อยอดเกษตรพอเพียง และ สตง.ทักท้วง สำนักงานสาธารณสุขจัดซื้อเครื่องมือการเกษตร โค กระบือแจก ระบุไม่ใช่หน้าที่ พร้อมตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ย้ำหากพบการกระทำผิดฟันไม่เลี้ยง
จากกรณีปราชญ์ชาวบ้านของศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาดำเนินการ พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรและประชาชนใน จ.กาฬสินธุ์ให้ได้รู้จักและใช้ชีวิตการอยู่อย่างพอเพียงหลายแห่งเรียกร้องให้ ป.ป.ท., สตง., ป.ป.ช. ตรวจสอบการดำเนินการโครงการ 3 ดี ทั้งระบบตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเชื่อว่าการดำเนินการของนักวิชาการบางคนในสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการ 3 ดี ส่อผลาญงบประมาณแผ่นดินหลายสิบล้านบาท สาเหตุเนื่องจากไม่ต่อยอดศูนย์ปราชญ์เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ แต่กลับจัดตั้งศูนย์ปราชญ์หน้าใหม่ขึ้นมารองรับการจัดซื้อครุภัณฑ์ เครื่องมือทางการเกษตร โค กระบือทำให้เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และทำให้การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเลือนหายไปนั้น
ล่าสุด วันนี้ (16 พ.ค.) นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและเป็นเจ้าภาพหลัก คือสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ชะลอการดำเนินการโครงการดังกล่าว
นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการกาฬสินธุ์ 3 ดี หรือโครงการกาฬสินธุ์ คนดี สุขภาพดี รายได้ดี เป็นโครงการที่ดีมากๆ เป็นโครงการที่ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์คนก่อนๆ เป็นคนคิดริเริ่มซึ่งทำให้ประชาชนมีอาหารดี สุขภาพดี รายได้ดี ถือเป็นสิ่งที่ดีงาม เพียงแต่ว่ามาระยะหลังอาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันหรือไม่ จึงทำให้มีกระแสข่าวความไม่ชอบมาพากล
นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า หลังจากที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ และเท่าที่ตรวจสอบพบว่าการดำเนินการโครงการ 3 ดี โดยงบประมาณกลุ่มจังหวัดปี 2560 มีการดำเนินการของ หน่วยงานหลัก คือหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตร และหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารสุข ภายใต้นโยบายการผลิตอาหารปลอดสารพิษ 3 ดี โดยในส่วนของหน่วยงานด้านเกษตรก็ได้ดำเนินการตามภาระหน้าที่ และภารกิจ เช่น โครงการทำนาแปลงใหญ่ มุ่งหาเครื่องจักรกลและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ลดต้นทุนให้กับพี่น้องเกษตรกร แต่ในส่วนของบทบาทภารกิจหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขที่ดำเนินการโครงการ 3 ดีนั้น เท่าที่ตรวจสอบกลับพบว่า มีหน่วยงานด้านการตรวจสอบภายใน คือ สตง.ได้มีการทักท้วงว่าภารกิจของสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีหน้าที่ภารกิจดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนเป็นหลัก แต่หากเข้ามาดำเนินการโครงการ 3 ดี และดูแลในส่วนของให้การรับรองการปลูกผักปลอดสารพิษนั้นก็ไม่เป็นไร แต่จะมาดำเนินการจัดซื้อเรื่องครุภัณฑ์ เครื่องมือการเกษตร เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร รถไถนา รถดำนา รถเกี่ยวข้าว หรือการดำเนินการจัดหาพาหนะในการทำไร่ ทำนา เช่น โค กระบือนั้น ไม่ใช่หน้าที่หลักของสำนักงานสาธารณสุข
นายสุวิทย์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวตนได้ดำเนินการแจ้งให้สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ไปแล้ว เพื่อให้พิจารณาดูว่า เมื่อ สตง.ทักท้วงมาแล้วจะดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร โดยแนวทางในการแก้ไขมี 2 แนวทางคือ หาก สตง.ทักท้วงแล้วสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ จะยังดำเนินการต่อไปก็สามารถทำได้ แต่ต้องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ มีความเชี่ยวชาญ และมีความรู้ ด้านเครื่องจักรกลการเกษตร หรือโค กระบือเข้ามาทำหน้าที่ร่วมในการจัดหาวัสดุอุปกณ์ด้วย
สำหรับแนวทางที่ 2 คือ หยุดการดำเนินการตามข้อทักท้วงของ สตง.ทันที หลังจากนั้นจะนำเข้าพิจารณาที่ประชุม กบจ. หรือคณะกรรมการบริหารงานจังหวัด และเปลี่ยนหน่วยงานที่มีความรู้และมีหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวมารับผิดชอบได้หรือไม่ แต่ปัญหาคือกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้วนั้นจะเป็นความต้องการของประชาชนหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณากันต่อไป
นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า ท้ายที่สุดแล้วเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ ตนในฐานะผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ และตัวแทนพี่น้องประชาชน ซึ่งก็เสียดายเงิน โดยงบประมาณที่สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ที่จะใช้ดำเนินการโครงการกาฬสินธุ์ 3 ดี ในปี 2560 มี 2 ส่วน คือ การอบรมให้ความรู้ แนะนำ องค์ความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 15 ล้านบาท และจัดซื้อครุภัณฑ์ประมาณ 13 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งอาจจะต้องคืนเงินงบประมาณกลับไปเพื่อพิจารณาขอใช้ภายหลัง หรือไม่ก็ให้ส่วนกลางพิจารณาใหม่ แต่ขบวนการทั้งหมดจะต้องผ่านมติคณะกรรมการ กบจ.ก่อน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูล และตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบการดำเนินการโครงการกาฬสินธุ์ 3 ดีทั้งหมดตั้งแต่ปี 2557 ที่ดำเนินการไปแล้ว เพื่อพิจารณาดูว่ามีการกระทำผิด และมีการทุจริตหรือไม่ แต่หากตรวจสอบข้อเท็จแล้วมีการกระทำผิดก็จะต้องดำเนินการทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทันที