xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์ท้องถิ่นแฉต่อ 5 ปมทำโครงการ 3 ดีล้มเหลว นักวิชาการล้มหลัก ศก.พอเพียง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ปราชญ์ชาวบ้านกาฬสินธุ์แฉยับการขับเคลื่อนโครงการ 3 ดีส่อทุจริตตั้งแต่ปี 2557 ชี้ 5 สาเหตุทำโครงการเหลวเพราะล้มหลักการเศรษฐกิจพอเพียง, ไม่ต่อยอดศูนย์ปราชญ์ต้นแบบ มุ่งตั้งศูนย์ปราชญ์หน้าใหม่หวังผลาญงบจัดซื้อจัดจ้างไม่ก่อประโยชน์แก่เกษตรกร ย้ำกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุขเขียนโครงการกันเองเอื้อประโยชน์พรรคพวก เดินหน้าจี้ ป.ป.ท., สตง., ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบ



จากกรณีปราชญ์ชาวบ้านใน จ.กาฬสินธุ์โวย “โครงการ 3 ดี คนดี สุขภาพดี รายได้ดี” ส่อผลาญงบประมาณแผ่นดินหลายสิบล้าน สาเหตุไม่ต่อยอดศูนย์ปราชญ์ต้นแบบ แต่กลับจัดตั้งศูนย์ปราชญ์หน้าใหม่ มาจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการเกษตร ทำให้งบประมาณแผ่นดินไม่ถึงมือเกษตรกรจริง จนเกิดความท้อแม้ในระบบราชการส่อให้เห็นถึงกระบวนการทุจริต และเรียกร้อง ป.ป.ท. สตง. และ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุด ที่ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ไร่นาสวนผสม บ้านเชียงงาม หมู่ 22 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายทองอินทร์ ภูมิช่อ หนึ่งในปราชญ์ชาวบ้านด้านไร่นาสวนผสม ซึ่งได้รับการจัดตั้งจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี 2551 ได้กล่าวถึงโครงการ 3 ดี คนดี สุขภาพดี รายได้ดี ไว้อย่างน่าสนใจ

โดยนายทองอินทร์ระบุว่า การทำเกษตรพอเพียง เริ่มต้นจากการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ มาเป็นแนวทางบริหารจัดการ อีกทั้งสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดหามาจากวัสดุที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงโดยไม่ต้องซื้อใหม่ ผลจากการทำจริงทำให้พื้นที่เกิดพืชผัก ผลไม้ ปลา กบ เป็นรายได้ จึงมีการต่อยอด แปรรูปผลผลิตสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น สบู่เพื่อสุขภาพที่สกัดจากไข่ผำ และผักกระเฉดน้ำ สินค้าการเกษตรขึ้นชื่อของตำบลบัวบาน

ซึ่งการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตตามศาสตร์พระราชา คือสูตรแห่งความสำเร็จที่ตนได้มีประสบการณ์ตรง และเมื่อได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากกรมส่งเสริมการเกษตร จึงเป็นการสร้างเสริมองค์ความรู้ และเพิ่มผลผลิตให้ตนมากขึ้น ส่งผลให้ได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบของจังหวัดและระดับภาค


นายทองอินทร์กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2555 ที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดทำโครงการ 3 ดี คนดี สุขภาพดี รายได้ดี ตนได้ร่วมโครงการในฐานะวิทยากรรับเชิญ บางครั้งศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านไร่นาสวนผสมของตนก็เป็นสถานที่รองรับการประชุมโครงการ 3 ดี ขณะนั้นยอมรับว่าโครงการ 3 ดีถูกออกแบบมาดีมาก เพราะเป้าหมายชัดเจน อยากให้ประชาชนทุกครัวเรือนมีสุขภาพอนามัยดี รณรงค์ลดเหล้า งดการพนัน

โดยเฉพาะลดทุนผลิตการเกษตร ลดใช้ปุ๋ยเคมี อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี มีหมู่บ้านศีล 5 ผลดำเนินงานช่วงเริ่มต้น 2 ปีแรกรู้สึกชื่นชมกับความก้าวหน้าของโครงการประชาชนให้การตอบรับดี ที่ชัดเจนคือ ลดเหล้า ลดปัญหาความรุนแรงในสังคม สุขอนามัยชาวบ้านดีขึ้น ลดความแออัดสถานพยาบาลได้ระดับหนึ่ง แต่ผลดำเนินงานปี 2557 การขับเคลื่อนโครงการ 3 ดีเงียบไป จึงออกห่างจากโครงการ

“โดยส่วนตัวคิดว่าโครงการ 3 ดี หากทำตรงไปตรงมาประชาชนจะได้ประโยชน์แน่นอน ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ต้องการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบเรื่องบริหารจัดการด้านงบประมาณ” นายทองอินทร์กล่าว

ด้านนายชาญยุทธ นันแก้ว สถาบันปราชญ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน และในฐานะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เสียดายที่โครงการดีๆ อย่างโครงการ 3 ดี ในช่วงหลังมีการเปลี่ยนทิศทางการขับเคลื่อน เพราะหันไปจัดตั้งศูนย์ปราชญ์ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบปราชญ์ 3 ดี มีการตั้งงบประมาณดำเนินการที่สูง แต่ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า และส่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา

การจัดตั้งศูนย์ปราชญ์ 3 ดีหน้าใหม่ใช้งบประมาณสูง ทั้งจัดสร้างอาคาร เฟอร์นิเจอร์ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ขณะที่ศูนย์ปราชญ์รุ่นแรกก็มีต้นทุนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปขยายใหญ่โตมากมาย

ภาพที่เห็นจึงเกินขอบเขตความพอเพียง เพราะไม่ใช่วิธีการดำเนินการที่ถูกต้อง เนื่องจากหัวใจการทำการเกษตรพอเพียงนั้นคือความพอเพียงพออยู่พอกิน ไม่ใช่จัดซื้อจัดจ้างมหาศาล

ตนเคยร้องเรียนให้ตรวจสอบในเวทีธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วงปี 2558 ได้ท้วงติงเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ เพราะนอกจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นแม่งานแล้ว ยังมีสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานประมง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าไปเกี่ยวข้อง มีการจัดสรรงบประมาณผ่านตามวาระและตามโครงการแต่ละปีรวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท

เช่น จัดอบรมปราชญ์ชาวบ้านใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาท, การจัดซื้อเครื่องสีข้าวให้แต่ละอำเภอเป็นหน่วยจัดซื้อจัดจ้าง ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท จัดซื้อไก่แม่ไข่ หรือแม้แต่พืชผักทางการเกษตร การขุดบ่อ การจัดแหล่งน้ำ ซึ่งจัดซื้อส่งให้เครือข่ายที่ตั้งขึ้นใหม่ หรือเป็นเครือญาติ ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้

สาเหตุแห่งความล้มเหลว เชื่อว่าเกิดจากนักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์เข้ามากำกับดูแลงบประมาณ เชื่อว่าวันนี้นักวิชาการที่ดูแลโครงการนี้ได้กระทำการอันส่อจะล้มหลักการเศรษฐกิจพอเพียง, ไม่ว่าเรื่องการต่อยอดศูนย์ปราชญ์ต้นแบบ, การจัดตั้งศูนย์ปราชญ์หน้าใหม่, จัดซื้อจัดจ้างแจกจ่ายสิ่งของซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชนไม่ถึงมือเกษตรกรตัวจริง

ขอให้ตรวจสอบจริงๆ แยกแยะว่างบประมาณโครงการ 3 ดี ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน หน่วยงานใดได้จัดสรรงบประมาณเข้ามา และดำเนินการใช้งบประมาณอย่างไร

อีกทั้งจะต้องลงพื้นที่ตรวจสอบของจริง ไม่ต้องการให้ผู้ที่จะมาตรวจสอบนั่งเทียนตรวจเพราะโครงการนี้เกษตรกรเข้าไม่ถึงงบประมาณ และเชื่อว่าจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเพิ่งได้ นายสุวิทย์ คำดี มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ จะสามารถทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง และกระชากหน้ากากเหลือบที่สูบภาษีประชาชนได้เสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น