xs
xsm
sm
md
lg

สีสันเมืองเลย ชาวเชียงคานสืบประเพณี “ผีขนน้ำ” บูชาบุญคุณวัว-ควาย(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลย - ชาวบ้านนาซ่าว อ.เชียงคานสืบประเพณี “ผีขนน้ำ” จัดขบวนแห่หลากสีสันสวมหน้ากากวาดลวดลายคล้ายหน้าวัวควายเพื่อบูชาบุญคุณของวัว ควายที่ตายไปแล้ว เผยเป็นเรื่องแปลกหลังเล่นผีขนน้ำแต่ละครั้งมักมีฝนตกให้ชุ่มฉ่ำทำไร่ทำนาได้ตามฤดูกาล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 พ.ค.) เวลา 10.30 น. ณ สนามหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย อบต.นาซ่าว ร่วมกับอำเภอเชียงคาน, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเลย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีล้านช้าง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย ได้จัดงานประเพณีผีขนน้ำ ประจำปี 2560 โดยมีนายคุมพล บรรเทาทุกข์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดงาน

งานเริ่มต้นด้วยการจัดขบวนแห่จากหมู่บ้านต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 โซน และมีการประกวดขบวนแห่ ประกอบด้วย ขบวนนางรำ, ขบวนรถเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เทพีผีขนน้ำ และขบวนแห่แมงหน้างาม หรือผีขนน้ำ เพื่อเป็นการบูชาวัวควายที่มีบุญคุณต่อชาวบ้าน แทนการนำมาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องสังเวย, มีขบวนแห่ดอกไม้เข้าผาม, ขบวนฟ้อนรำของแต่ละคุ้ม แต่ละหมู่บ้าน ทั้ง 15 หมู่บ้าน

นายแดนชัย ดีแก้ว นายก อบต.นาซ่าว ในนามประธานสภาวัฒนธรรมตำบลนาซ่าว กล่าวว่า งานประเพณีผีขนน้ำหรือบุญเดือนหกชาวตำบลนาซ่าวได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี เป็นการละเล่นตามความเชื่อของคนโบราณที่ยึดถือกันมาช้านานแล้ว เชื่อกันว่าเมื่อมีการละเล่นผีขนน้ำจะทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล บ้างก็เชื่อว่าเป็นการละเล่นเพื่อเซ่นไหว้สัตว์เลี้ยงที่มีคุณประโยชน์ เช่น วัว ควาย ที่ล้มหายตายจากไป มีการจัดขบวนแห่ฟ้อนรำอันสวยงาม

รวมถึงกิจกรรมการละเล่นผีขนน้ำของตำบลนาซ่าว ซึ่งแสดงออกถึงการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์และขึ้นชื่อสืบมาจนถึงปัจจุบัน ถือเอาวันแรม 13 ค่ำ เดือนหก ของทุกปี เป็นวันกำหนดการจัดงาน ในปีนี้ตรงกับวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2560

ด้านนายเกียรติพงษ์ คชวงษ์ ผอ.ททท.สำนักงานเลย เผยว่า หน้ากากผีขนน้ำจะแตกต่างกับผีตาโขนเมืองด่านซ้าย หน้ากากผีขนน้ำจะทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้นุ่น ไม้ตีนเป็ด นำมาสลักเป็นรูปหน้ากาก วาดลวดลายลงสีต่างๆ หน้ากากผีขนน้ำรูปหน้าคล้ายๆ วัว ควาย เพื่อรำลึกคุณของวัว ควาย ที่มีต่อชาวบ้านแล้ว


ยังมีความเชื่อสืบเนื่องต่ออีกว่า “ผีขน” คือ วัว ควาย ที่ตายไปแล้ว แต่วิญญาณยังคงวนเวียนอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง รอบๆ หมู่บ้าน

เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำมาใช้ วิญญาณของสัตว์ทั้งสองชนิดจะตามเข้าหมู่บ้านมาด้วย ซึ่งพบแต่ขน และได้ยินแต่เสียงกระดึง แต่ไม่เห็นตัว ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ผีขนวัว ผีขนควาย” ยุคแรกๆ จะพากันเรียกว่า “การละเล่นผีขน” แต่ทุกครั้งหลังจบการละเล่นผีขนฝนมักจะตกให้ได้ทำไร่ทำนา ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ผีขนน้ำ” มาถึงปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น