อุตรดิตถ์ - สองผู้ใหญ่บ้านผาเลือดค้านนายทุนต่อประทานบัตรเหมืองแร่ แฉงุบงิบทำประชาพิจารณ์ชาวบ้าน ผวาใกล้วันประชาพิจารณ์รอบสองซื้อเสียงหนัก อดีตนายอำเภอเผยเขตประทานบัตรมีแร่ทองคำเพียบ
นายวินัย พรหมอินทร์ อายุ 63 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน และแกนนำกลุ่มผู้คัดค้านการต่อใบประทานบัตรเหมืองแร่ บ้านผาเต่าพัฒนา หมู่ 3 ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ศาลากลางหมู่บ้าน หมู่ 3 นายชาญณรงค์ สังข์เงิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผาเลือด พร้อมรองนายก อบต.ผาเลือด และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ทำประชาคมหมู่บ้าน หลังจากมีนายทุนยื่นขอต่ออายุใบประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านผาเต่าพัฒนา และบ้านปากห้วยฉลอง หมู่ 4 ซึ่งใบเก่าจะหมดอายุในวันที่ 10 กันยายนนี้
การทำประชาคมมีชาวบ้านหมู่ 3 ไม่ทราบข้อมูล ไม่มีการประกาศเสียงตามสาย จึงมีชาวบ้านเข้าร่วมเพียง 25 คน จากประชากรทั้งหมดราว 500 คนเศษ และส่วนมากไปทำงานต่างจังหวัด จะเหลือชาวบ้านราว 140 คนเท่านั้นที่อยู่ในหมู่บ้าน ผลประชาคมมีชาวบ้านเห็นด้วยกับการต่อใบประทานบัตร 13 เสียง และคัดค้าน 12 เสียง การทำประชาคมให้ชาวบ้านยกมือแบบเปิดเผย จนชาวบ้านที่ยกมือคัดค้านเกรงจะไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
นายวินัยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2535 บริษัท อุตรดิตถ์ ป.พาณิชย์การเหมืองแร่ จำกัด โดยนายปลื้ม เกตุวงศ์ หรือชาวบ้านเรียกว่า ปลัดปลื้ม เลขที่ 113 ย่านศิลาอาสน์ ซอยเกตุทอง ต.ท่าอิฐ อ.เมืองอุตรดิตถ์ ขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อทำเหมืองแร่ทัลค์ และหินอุตสาหกรรมชนิดแอนดีไซต์ เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง ประทานบัตรเลขที่ 22314/14651, 22315/14625 และ 22316/14653 ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา พื้นที่ 280 ไร่ 78 ตารางวา ครอบคลุมภูเขามากกว่า 4 ลูก เป็นเวลา 25 ปี
โดยจะหมดอายุลงวันที่ 11 กันยายน 2560 ป่าผืนนี้เป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน กันไว้สำหรับจัดสรรให้ชาว อ.ท่าปลา ที่อพยพออกมาจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ และใช้เป็นพื้นที่ทำมาหากินใช้ประโยชน์ร่วมกันมานานของคนหลายหมู่บ้าน โดยช่วง 20 ปีแรกไม่มีการดำเนินการอะไรในพื้นที่ใบประทานบัตร มีเพียงการเปิดหน้าหินมีลักษณะเป็นบ่อ 3 บ่อบนภูเขา มีการสร้างที่พักคนงาน 1 หลัง
“เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 มีชาย 3 คนเข้ามาทำการบุกรุกที่ดินบริเวณดังกล่าว โดยการตัดไม้หลายชนิด แต่นายประสงค์ อุไรวรณ์ นายอำเภอท่าปลาขณะนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ นำกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ไปทำการจับกุม แต่ชายทั้ง 3 คนไหวตัวทันหลบหนีไปได้ จากนั้นนายอำเภอและชาวบ้านก็ทำหนังสือถึงนายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการ จ.อุตรดิตถ์ขณะนั้น เพื่อทำรายงานให้ทราบ จนสุดท้ายก็ไม่มีการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ประทานบัตรดังกล่าวอีกเลย และอีกไม่กี่เดือนก็ใกล้วันหมดอายุแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านกลัวคือ การงุบงิบทำประชาคมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้นจะกลายเป็นผลที่ทำให้มีการต่ออายุใบประทานบัตรอีกครั้ง” นายวินัยกล่าว
แกนนำชาวบ้านผาเต่าพัฒนากล่าวอีกว่า ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้จะมีการนัดทำประชาคมครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกเกิดความไม่ชอบมาพากลขึ้น ซึ่งครั้งนี้เกรงว่าก่อนการทำประชาคมจะมีการหยิบยื่นผลประโยชน์ให้ชาวบ้านเพื่อแลกกับการให้ผ่านประชาคม หรือไม่ก็อาจจะมีการข่มขู่ชาวบ้านที่คัดค้านการต่อใบประทานบัตร เนื่องจากผู้หลักผู้ใหญ่ใน ต.ผาเลือดมีความคิดเห็นที่เอนเอียงไปทางนายทุน
หากนายทุนได้รับการอนุญาตให้ต่อใบประทานบัตร สิ่งที่จะตามมาคือถนนจะพังเสียหาย จะเกิดฝุ่นละออง เสียงดังรบกวน และป่าไม้จะถูกทำลายไปจนหมด ที่สำคัญน้ำเสียอาจจะไหลลงแม่น้ำน่านที่อยู่ห่างไม่กี่ร้อยเมตร นอกจากนี้ แหล่งหากินของชาวบ้านก็จะลดน้อยลงด้วย ดังนั้นชาวบ้านจึงร่วมกันคัดค้านจนถึงที่สุด
นายอดิเรก จันสะอาด ผู้ใหญ่บ้านปากห้วยฉลอง หมู่ 4 ต.ผาเลือด กล่าวว่า พื้นที่ประทานบัตรส่วนใหญ่อยู่ในหมู่ 4 ชาวบ้านเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยพร้อมคัดค้านการต่อใบประทานบัตรครั้งนี้ เพราะต้องการอนุรักษ์เอาไว้เพื่อให้ต้นไม้จำพวกไม้สักทอง ไม้กระยาเลย ที่กำลังฟื้นตัว อีก 3-4 ปีก็จะกลายเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มาก จะเป็นแหล่งต้นน้ำของ ต.ผาเลือดที่ดีที่สุด
หากมีการทำเหมืองแร่สิ่งที่จะตามมาคือ ป่าไม้จะลดลง ถนนพัง ฝุ่นละออง สารเคมีสารพิษในเหมืองจะไหลลงสู่แหล่งน้ำ คือ แม่น้ำน่าน ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันหลายจังหวัด กล่าวโดยรวมๆ คือ มีแต่เสีย ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้อะไรเลยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่กำลังวิตกคือ ชาวบ้านหมู่ 3 จะเห็นผลประโยชน์เล็กน้อยมากกว่าส่วนรวม และการข่มขู่ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
ด้านนายประสงค์ อุไรวรณ์ นายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อดีตนายอำเภอท่าปลา เขียนไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จ.อุตรดิตถ์มีสายแร่ทองคำบริเวณ ต.ผาเลือด ริมน้ำน่าน เลยมีคนต้องการเปิดแปลงสัมปทานเก่า แร่ทัลค์ หรือที่ชาวบ้านเรียกแร่สบู่ ที่จะหมดอายุในเร็วๆ นี้ ทั้งที่จริงแล้วไม่เคยได้รับอนุญาตให้ทำเหมือง มีแต่การลักลอบขุด ต้องทำความเข้าใจกับคนทั่วไปให้ทราบว่ามีแปลงสัมปทานอยู่ ไม่สามารถทำเหมืองได้เลยต้องขออนุญาตทำเหมืองก่อนโดยจะต้องได้รับอนุญาตการแผ้วถางป่าจากกรมป่าไม้ด้วย
มีการศึกษาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่กรมอุตสาหกรรมมักจะติดประกาศให้ประชาชนเสนอความคิดเห็น ชาวบ้านส่วนใหญ่มักไม่รู้ก็จะสรุปว่าไม่มีผู้เสนอความคิดเห็น ได้รับความเห็นชอบจากท้องถิ่นและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการอย่างเปิดเผยมักถูกคัดค้านจากประชาชน จึงมักจะมีการแอบทำ จึงขอให้ชาวบ้านและผู้รู้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดีกว่ามาแก้ปัญหากันภายหลังเพราะยังไม่เคยเห็นว่าจะแก้ได้สักเรื่อง