xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์ชาวบ้านโวยปราชญ์โครงการ 3 ดี ส่อผลาญงบ เมินต่อยอดศูนย์ต้นแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ปราชญ์ชาวบ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์ โวยปราชญ์โครงการ 3 ดี ส่อผลาญงบประมาณแผ่นดิน หลายสิบล้านสาเหตุไม่ต่อยอดศูนย์ปราชญ์ต้นแบบ แต่กลับจัดตั้งศูนย์ปราชญ์หน้าใหม่มาจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการเกษตร เรียกร้อง ป.ป.ท. สตง. และ ป.ป.ช.ตรวจสอบ

ที่สวนเกษตรพอเพียง เลขที่ 48 หมู่ 2 บ้านปอแดง ต.นาดี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสนิท ภูสมหมาย เจ้าของสวน ในฐานะปราชญ์ชาวบ้าน รางวัลปราชญ์สร้างชาติรักษาแผ่นดิน และรางวัลเกษตรกรในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนโครงการ 3 ดี คนดี สุขภาพดี รายได้ดี โดยสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ บูรณาการกับส่วนราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำศาสนา รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งที่ผ่านมาเกิดประโยชน์สุขต่อชาวบ้าน ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือลดเหล้า ลดการพนัน ในงานศพและงานบุญ ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการเกษตรกรรม ปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาสู่การเป็นคนดี สุขภาพดี รายได้ดี และเกิดการขยายผลครอบคลุมทุกหมู่บ้าน จนกระทั่งเกิดเครือข่ายหมู่บ้าน ตำบล และกลุ่มวิสาหกิจต้นแบบคนดี สุขภาพดี รายได้ดี

“การขับเคลื่อนโครงการ 3 ดีกำลังจะไปได้ดี อย่างที่เรียกว่าเดินมาถูกทาง แต่ในระยะหลังกลับเกิดการสะดุด สาเหตุคือมีการเบี่ยงเบนวิธีการดำเนินงาน โดยคณะทำงานซึ่งเป็นบุคลากรระดับสูงของสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจขึ้นมาใหม่ รวมทั้งใช้งบประมาณเพื่อการจัดซื้อครุภัณฑ์ปศุสัตว์และเครื่องมือทางการเกษตร ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านและคณะทำงานหลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสม เป็นการละลายงบประมาณโดยไม่คุ้มค่า”


นายสนิทกล่าวอีกว่า การดำเนินการที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นในหมวดคนดี สุขภาพดี รายได้ดี ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเข้ามาบูรณาการขับเคลื่อน มีความชัดเจนในการดำเนินการตามตัวชี้วัด มีศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้ ในด้านการประกอบอาชีพ การบริโภคอาหาร พืชผักปลอดสาร การบำบัดและรักษาสุขภาพด้วยสมุนไพร เพื่อนำไปสู่การเป็นคนดี สุขภาพดี รายได้ดี แต่ในการขับเคลื่อนโครงการ 3 ดี ในระยะหลังไม่ให้ความสำคัญกับศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านฯ กลับไปจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจหรือศูนย์ปราชญ์ 3 ดีขึ้นมาใหม่อีกหลายแห่ง รวมทั้งจัดสรรงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์ด้านการปศุสัตว์และการเกษตรให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ ใน 4 อำเภอ คือ ต.นาดี อ.ยางตลาด, ต.ฆ้องชัยพัฒนา อ.ฆ้องชัย, ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย และ ต.โนนน้ำเกลี้ยง อ.สหัสขันธ์ รายการที่จัดซื้อมีเครื่องอัดฟาง แม่พันธุ์โค แม่พันธุ์กระบือ เครื่องสีข้าวกล้อง รถแทรกเตอร์ไถนา และรถเกี่ยวข้าว รวมมูลค่าหลายสิบล้านบาท

“เมื่อพิจารณาดูรายการแล้วปราชญ์ชาวบ้านทั้ง 18 อำเภอใน จ.กาฬสินธุ์ มองว่าเป็นการจัดซื้อที่ไม่ชอบ โดยเฉพาะที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจทุกแห่งดังกล่าวกระจุกอยู่ในกลุ่มญาติพี่น้องของคนในสำนักงานสาธารณสุขที่มีสิทธิ์อำนาจเขียนโครงการและการเบิกจ่ายงบประมาณ”

นายสนิทกล่าวอีกว่า โครงการ 3 ดี คนดี สุขภาพดี รายได้ดี ตนได้เข้าร่วมขับเคลื่อนในฐานะปราชญ์ชาวบ้าน ด้านการทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยการลดใช้สารเคมี ปลูกข้าวอินทรีย์ และพืชผักสวนครัวด้วยปุ๋ยชีวภาพ กระทั่งได้รับรางวัลปราชญ์สร้างชาติรักษาแผ่นดิน และรางวัลเกษตรกรในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2557

"ตนมีแนวทางการทำงานตามรอยพระยุคลบาทเศรษฐกิจพอเพียงมาหลายปี แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ 3 ดีกับสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ โดยมี 3 ดร. เป็นนักวิชาการสาธารณสุขฯ เป็นเจ้าของโครงการแล้ว รู้สึกว่าแนวทางการปฏิบัติ จะไม่สอดคล้องกัน จึงได้ถอนตัวออกมาเมื่อปี 2559”

ทั้งนี้ ปราชญ์ทุกสาขา ทั้งปราชญ์ชาวนา ปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์ภูมิปัญญาด้านต่างๆ รุ่นแรกของโครงการ 3 ดี ที่เข้ามาร่วมคณะทำงาน มีแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทำด้วยจิตอาสา แต่พอ 3-4 ปีแรกที่โครงการ 3 ดีประสบความสำเร็จ ปราชญ์รุ่นเก่าๆ หลายคนรวมทั้งตนถูกกดดัน จนต้องถอนตัวออกมา ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจในโครงการ ดำเนินการต่างๆ ได้อย่างสะดวก โดยมีการแต่งตั้งปราชญ์รุ่นใหม่ในชื่อปราชญ์ 3 ดี และมีการจัดตั้งศูนย์วิสาหกิจชุมชนแห่งใหม่ขึ้นมารองรับโครงการ 3 ดี แต่กลับเป็นช่องทางให้เกิดการเอื้อประโยชน์ให้บุคคลบางกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ที่เกิดพิรุธไม่โปร่งใสในโครงการ 3 ดี จึงอยากเรียกร้องให้ ป.ป.ท. สตง. และ ป.ป.ช.มาตรวจสอบ เพื่อให้การใช้เงินทุกบาทที่เป็นงบประมาณแผ่นดินเกิดประโยชน์คุ้มค่าต่อประชาชน ไม่เป็นช่องทางให้บุคคลใดคนหนึ่งแสวงหาประโยชน์แก่พวกพ้อง เพราะตนเห็นว่าตามรายละเอียดในเอกสาร กลุ่มวิสาหกิจบางกลุ่มเขาก็มีครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว ไม่จำเป็นต้องจัดงบประมาณซื้ออีก ทั้งนี้ เกรงว่าจะเกิดการทุจริตเขียนบิลผีเบิกเงินหลวง จึงอยากให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของโครงการ 3 ดีด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น