บุรีรัมย์ - หนอนหัวดำระบาดกัดกินใบยอดและต้นมะพร้าวของชาวบ้าน 6 ตำบลใน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ปลูกไว้ขายเสียหายจำนวนมาก ชาวบ้านต้องตัดต้นทิ้งมากกว่า 100 ต้นหวังสกัดการระบาด แต่ไม่ได้ผล ขณะเกษตรจังหวัด อำเภอ และตำบลลงพื้นที่แนะวิธีกำจัด เผยเพิ่งพบระบาดเป็นครั้งแรก
วันนี้ (9 พ.ค.) ชาวบ้านและเกษตรกร 6 ตำบลในอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย ต.ชุมแสง, หนองโบสถ์, หนองไทร, ลำไทรโยง, ทรัพย์พระยา, หนองยายพิมพ์ และ ต.ทุ่งแสงทอง กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนหนักหลังมี “หนอนหัวดำ” ระบาดกัดกินใบ ก้าน และดูดกินน้ำเลี้ยงยอดต้นมะพร้าวที่ชาวบ้านผู้สูงอายุปลูกไว้ตามสวนและพื้นที่ว่างรอบครัวเรือนอายุตั้งแต่ 30-40 ปี เพื่อขายเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวหลังฤดูทำนา จนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง
โดยสภาพของต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำระบาดกัดกินจะทำให้ลูกมะพร้าวแคระแกร็น ใบเหี่ยวแห้ง ก้าน-ลำต้นผุ และตายในที่สุด สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน เกษตรกรเป็นอย่างมาก จนต้องตัดสินใจตัดต้นมะพร้าวที่มีหนอนระบาดทิ้งไปแล้วมากกว่า 100 ต้น เพื่อหวังสกัดไม่ให้ระบาดไปยังมะพร้าวต้นอื่น หรือพืชตระกูลปาล์มชนิดอื่น แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถยับยั้งการระบาดได้
ขณะที่ล่าสุดหลังได้รับรายงานการระบาด เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอนางรอง รวมถึงเกษตรตำบลในพื้นที่ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและสาเหตุที่เกิดหนอนหัวดำระบาด พร้อมแนะนำวิธีกำจัดให้แก่ชาวบ้านเกษตรกรด้วย
โดยเบื้องต้นได้นำแตนเบียนที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ศัตรูพืชนครราชสีมามาปล่อยในพื้นที่ที่มีการระบาด ตัดใบ ก้านมาเผาทำลาย แต่หากไม่ได้ผลให้ใช้วิธีการเจาะลำต้นแล้วฉีดสารเคมีประเภทดูดซึมเข้าไปเพื่อทำลายตัวหนอน ซึ่งการระบาดของหนอนหัวดำในต้นมะพร้าวครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกเพราะที่ผ่านมาไม่เคยพบการระบาด
นางนันทิชา วิราศ ผู้ใหญ่บ้านโคกตะคร้อ หมู่ 3 ตำบลชุมแสง อำเภอนางรอง บอกว่า ในหมู่บ้านมีชาวบ้านเกษตรกรปลูกมะพร้าวขายเป็นอาชีพเสริมอยู่กว่า 300 ต้น สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านเสริมจากการขายลูกและก้านมะพร้าวครัวเรือนละ 2-3 พันบาทต่อเดือน แต่ขณะนี้ได้ถูกหนอนหัวดำระบาดกัดกินเกือบทุกต้น ชาวบ้านจึงได้ตัดต้นทิ้งไปแล้วร่วม 100 ต้น ที่เหลือได้ผลผลิตบ้างไม่ได้บ้างสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก
สำหรับวิธีการกำจัดที่เจ้าหน้าที่มาแนะนำ อย่างเช่น การปล่อยแตนเบียน และตัดก้านมะพร้าวมาเผาทำลายค่อนข้างยาก เนื่องจากต้นมะพร้าวค่อนข้างสูง แต่หากยังไม่ได้ผลคงต้องใช้วิธีเจาะลำต้นแล้วฉีดสารเคมีเข้าไปทำลายหนอนหัวดำดังกล่าว เพราะหากปล่อยไว้อาจสร้างความเดือดร้อนสร้างให้ชาวบ้านเป็นวงกว้าง
ด้าน นายศักดิ์ชาย สังข์โกมล เกษตรตำบลนางรอง กล่าวว่า ขณะนี้มีหนอนหัวดำระบาดกัดกินใบ ก้าน และดูดกินน้ำเลี้ยงของยอดมะพร้าวในหลายพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดหนอนหัวดำระบาด แต่เป็นศัตรูพืชที่ทำลายผลผลิตทางการเกษตรสร้างความเดือดร้อนเสียหายเป็นวงกว้าง ส่วนวิธีการกำจัดเบื้องต้นได้มีการนำแตนเบียนที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ศัตรูพืชนครราชสีมามาปล่อยในพื้นที่ที่มีการระบาด รวมถึงแนะนำให้เกษตรกรตัดใบ ก้านมาเผาทำลาย แต่หากไม่ได้ผลให้ใช้วิธีการเจาะลำต้น แล้วฉีดสารเคมีประเภทดูดซึมเข้าไปเพื่อทำลายตัวหนอนดังกล่าว