นครปฐม- จ. นครปฐม ร่วมหลายหน่วยงานทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนครปฐมโมเดลการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวคุณภาพครบวงจร หวังพัฒนาการผลิต และแปรรูปข้าว เพิ่มมูลค่าผลผลิตให้เกษตรกร
วันนี้ (8 พ.ค.) พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานกรรมมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วย นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พล.อ.ประสาท สุขเกษตร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้ประกอบการโรงสีข้าว
รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการนครปฐมโมเดลการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวคุณภาพครบวงจร (ขนมจีนแปลงใหญ่) ปี 2560 ณ ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการผลิต และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมั่นคงในการประกอบอาชีพ ตลอดจนทำให้ประชาชนมีช่องทางในการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ และปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเพิ่มรายได้ และความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับการลงนามในครั้งนี้ สืบเนื่องจากผู้ประกอบการโรงงานขนมจีนทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ได้ยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐว่าประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการทำขนมจีน และโรงงานมีความต้องการข้าวสารคุณภาพอย่างต่อเนื่องวันละ 3-4 ตัน ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวได้นำไปสู่การพิจารณาแนวทางเชื่อมโยงผลผลิตข้าวจากนาแปลงใหญ่ของจังหวัดนครปฐม ที่ปัจจุบันมี จำนวน 6 แปลง พื้นที่ 11,542 ไร่ เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปขนมจีน
ทั้งนี้ ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ผู้ประกอบการโรงสี และโรงงานขนมจีน ดำเนินการเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม โดยรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 3 แปลง ในอำเภอบางเลน ตำบลบางปลา และตำบลไผ่หูช้าง
รวมพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ 1,500 ไร่ ขณะที่สำนักงานเกษตรจังหวัด ยังได้ร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี จัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ในการปลูก คือ พันธุ์ กข41 ซึ่งได้รับงบประมาณจากยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ประสานโรงสีเพื่อเข้าซื้อผลผลิตข้าวเปลือกของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 300-500 บาทต่อตัน