เชียงราย - เรือสำรวจน้ำโขง สป.จีนเว้นเจาะ “คอนผีหลง” อ้างหินเยอะ-ทำงานลำบาก ขอล่องลงสำรวจท้ายน้ำก่อนเข้าลาวแถบแก่งผาได
วันนี้ (8 พ.ค.) สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จ.เชียงราย ได้แจ้งผลการสังเกตการณ์เรือสำรวจแม่น้ำโขงของบริษัท CCCC Second Habor Consultant จำกัด จากประเทศจีน ซึ่งเริ่มสำรวจแม่น้ำโขงตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน-สุดแนวแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน จ.เชียงราย ระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร
ล่าสุดการสำรวจด้านการขุดเจาะของเรือเจียฟู่ 3 ได้ดำเนินการไปถึงจุดที่ 87-92 แล้ว ในเขต ต.ริมโขง อ.เชียงของ ซึ่งเคยมีกลุ่มชาวบ้านออกมาแสดงพลังถือป้ายกลางเกาะแม่น้ำโขงตรง “ผาเยีย” ติดบ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง มาแล้ว
ส่วนจุดที่ 93 ที่เรียกว่า “คอนผีหลง” ที่ประกอบไปด้วยเกาะแก่งต่างๆ จำนวนมากกลางแม่น้ำโขงนั้น ทางเจ้าหน้าที่ประจำเรือสำรวจจีนได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยว่าจะขอเลี่ยงจุดดังกล่าวไปสำรวจจุดท้ายน้ำก่อน เนื่องจาก “คอนผีหลง” เป็นจุดที่มีแก่งหินจำนวนมาก ทำให้เรือสำรวจของจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่ทำงานได้ลำบาก
โดยจะดำเนินการสำรวจจุดที่ 99 จุดที่ 100 และจุดที่ 101 ซึ่งตั้งอยู่ติดกับบ้านห้วยลึก ต.หล่ายงาม อ.เวียงแก่น ที่มีเกาะแก่งติดต่อกันไปจนถึงแก่งผาไดที่มีเกาะแก่งหนาแน่นเช่นกัน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดชายแดนไทยด้านแม่น้ำโขงตอนบนก่อนที่แม่น้ำจะไหลเข้าสู่ สปป.ลาว ก่อน จากนั้นค่อยย้อนกลับขึ้นมาสำรวจจุดที่เหลือคือ คอนผีหลง อีกครั้ง
ขณะที่เรือสำรวจอีก 2 ลำของจีน คือ เรือเฉินตง 9 ที่เป็นเรือวัดระดับน้ำ และเรือเซิ่นไท้ 198 เรือสำรวจทางภูมิศาสตร์ ได้เข้าไปสำรวจน้ำโขงเขต อ.เวียงแก่น ไปก่อนหน้านี้แล้ว
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นับตั้งแต่เรือสำรวจของจีน 3 ลำทำการสำรวจแม่น้ำโขงเข้าสู่เขต อ.เชียงของ กลุ่มเครือข่ายชาวบ้าน เช่น เครือข่ายธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา (กลุ่มรักษ์เชียงของ) กลุ่มรักษ์เชียงของ ฯลฯ ได้ออกมาแสดงพลังคัดค้านการสำรวจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากเห็นว่าการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือสินค้าขนาด 500 ตัน แล่นในน้ำโขงได้สะดวกตลอดทั้งปีและจะทำให้เกิดผลเสียหลายอย่าง เช่น ระบบนิเวศของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะเกาะแก่ง แหล่งพันธุ์ปลา พืช สัตว์ต่างๆ วิถีชีวิต ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ฯลฯ
โดยมีการนำเรือพร้อมป้ายต่อต้าน 3 ภาษา คือ ไทย จีน และอังกฤษ ขึ้นไปแสดงพลังบนเกาะผาเยีย และล่าสุดมีการติดป้ายบางจุดตามริมฝั่งเขต อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น แล้วนำเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะหรือโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง