กาญจนบุรี - อธิบดีกรมอุทยานฯ เผยผลปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่กาญจนบุรี ชี้ผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ตทุกรายยังบริสุทธิ์ แนะให้นำเอกสารมายื่นแสดง ยันใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
วันนี้ (7 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าผลปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และอุทยานแห่งชาติไทรโยค อ.ไทรโยค เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งในวันดังกล่าวนั้น นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมคณะได้เดินทางไปที่โรงแรมริเวอร์แคว วิลเลจ หมู่ 4 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งโรงแรมดังกล่าวเป็น 1 ในจำนวนที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เข้าดำเนินการตรวจสอบ และพบการกระทำผิดเนื่องจากเรือนแพที่อยู่กลางแม่น้ำแควน้อยที่เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวนั้นไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า และหรือจากกรมอุทยานฯ และได้มีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกนอกพื้นที่ไปแล้ว
และเมื่อไปถึงมี นายสุชาติ เจียรจิตเลิศ และนายประกาศิต ลำมาลา ผู้บริหารฯ ให้การต้อนรับ และนำพาไปตรวจสอบเรือนแพดังกล่าวทันที โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที จึงแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยก่อนเดินทางกลับว่า การปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า หรือ ศปก.พป. นั้นเป็นไปตามคำสั่งของพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้บูรณาการร่วม 3 ชุด ระหว่างนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หน.ชุดพญาเสือ กรมอุทยานฯ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หน.ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ นายรัชชัย พรพา หน.ชุดฉลามขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงานเข้าร่วมปฏิบัติการด้วย
สำหรับการดำเนินการต่างๆ ต้องขอเรียนว่า ปัจจุบันนี้พี่น้องประชาชนเหมือนได้มีที่พึ่ง เพราะได้ร้องเรียนไปที่สายด่วน 1362 เราจึงใช้วิธีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับด้วยดีจากพี่น้องประชาชน
ขณะนี้มีอยู่หลายพื้นที่ที่ประชาชนแจ้งข่าวสารมาให้เราเข้าไปตรวจสอบ แต่เนื่องจากบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ของเรานั้นมีจำนวนจำกัด ดังนั้น การดำเนินการจึงต้องแยกแยะเรียงลำดับความสำคัญไป พื้นที่ไหนสำคัญที่สุดก็ให้เร่งดำเนินการในพื้นที่นั้นไป
โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีแล้วเสร็จ ก็ได้ลงปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดสตูล เนื่องจากมีนายทุนเข้าไปบุกรุกปลูกสวนปาล์มกว่า 2,000 ไร่ และหลังจากนั้นจะเข้ามาตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม รวมทั้งอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค
ทั้งนี้ เพื่อเร่งเคลียร์ปัญหาที่ค้างคาให้จบเพื่อพี่น้องประชาชนที่ร้องเรียนเข้าไปจะได้สบายใจว่าเราไม่มีสองมาตรฐาน กรมอุทยานฯ และศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่านั้นปฏิบัติหน้าที่ด้วยการใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
แต่ทั้งนี้ การตรวจสอบที่ผ่านมายังถือว่าทุกคนนั้นยังบริสุทธิ์อยู่ เพราะฉะนั้นหลังจากที่เราตรวจสอบพื้นที่แล้วเสร็จก็ขอให้ประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการโรงแรม หรือรีสอร์ตที่ถูกตรวจสอบให้นำเอกสารที่มีอยู่มายื่นแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะได้ดำเนินการตรวจสอบว่าเอกสารที่มีอยู่นั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
สำหรับการตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่ถูกดำเนินไปแล้วส่วนใหญ่จะเป็นพวกเรือนแพที่อยู่นอกเหนือเขตบริการของอุทยานฯ และการประกอบการก็ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะจากกรมเจ้าท่า หรือกรมอุทยานฯ ซึ่งจากนี้ไปจะได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
โดยเฉพาะระหว่างกรมเจ้าท่า กับกรมอุทยานฯ ในการจัดระเบียบแพ ซึ่งการจัดระเบียบแพนั้นเราจะจัดระเบียบเฉพาะโซนที่ให้บริการเท่านั้น และการจัดระเบียบแพในโซนบริการนั้นจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาให้คำปรึกษาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไรที่จะประกาศให้เป็นโซนบริการ
ถามว่าการจัดระเบียบแพให้เป็นโซนบริการนั้นเป็นทางออกที่ดีหรือไม่ ก็ถือว่าเป็นทางออกที่ดีของประชาชน และก็ผู้ประกอบการ เพราะทุกฝ่ายจะได้เข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ต้องขอเรียนให้ประชาชน และผู้ประกอบการทราบว่า พื้นที่ที่เราให้ครอบครองตามมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.41 นั้น เราใช้เฉพาะด้านการเกษตรเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อประกอบการด้านรีสอร์ตเพื่อการท่องเที่ยว และที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่พบว่าพื้นที่มีการเปลี่ยนมือไปเป็นของนายทุน ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้ามาดำเนินการต่อไป
ด้าน นายสุชาติ เจียรจิตเลิศ ผู้บริหารระดับสูงของโรงแรมริเวอร์แคว วิลเลจ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่กรมอุทยานฯ เข้ามาตรวจสอบ และชี้แนวเขตของกรมอุทยานฯ เราจะได้รู้ว่าส่วนไหนเป็นส่วนของกรมอุทยานฯ และส่วนไหนคือส่วนที่ถูกต้องของเรา
สำหรับโรงแรมริเวอร์แคว วิลเลจ เราสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 ซึ่งสร้างมาพร้อมๆ กับเขื่อน ส่วนกรมอุทยานฯ นั้นได้ประกาศเขตเมื่อปี พ.ศ.2525 ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าโรงแรมริเวอร์แคว วิลเลจ ของเรานั้นสร้างมาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ
แต่ทั้งนี้ ทางเราไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่พร้อม และยินดีที่จะให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เป็นอย่างดี นอกจากให้ความร่วมมือแล้ว เรายินดีที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอ และคำแนะนำของกรมอุทยานฯ ทุกประการ
สำหรับปัญหาของโรงแรมริเวอร์แคว วิลเลจ ที่ต้องปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว คือ บริเวณโซนเรือนแพที่อยู่แม่น้ำแควน้อย มีทั้งหมด 26 ห้อง ในจำนวน 26 ห้อง เราทราบภายหลังว่ารุกที่อุทยานฯ ประมาณ 10 ห้อง ที่เหลือหลุดออกนอกเขตอุทยานฯ
ดังนั้น เราจึงต้องการขอความอนุเคราะห์จากกรมอุทยานฯ ว่า ขอให้มาช่วยชี้จุดให้แน่นอนซึ่งเราก็จะเลื่อนออกไปให้พ้นเขตอุทยานฯ ตามคำแนะนำทันที สำหรับที่ดินของเราที่มีอยู่กว่า 400 ไร่ เป็นเอกสาร น.ส.3.ก.ที่ได้ซื้อมาอย่างถูกต้องตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 ซึ่งตั้งแต่วันที่เราซื้อที่ดินมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ก็มีอยู่เท่าเดิมโดยไม่เคยขาย หรือซื้อเพิ่มแต่อย่างใด