นครปฐม - ก๊วนเจ็ตสกี 6 ลำ ลอยติดในดงผักตบชวากลางแม่น้ำท่าจีนกว่า 5 ชั่วโมง กลุ่มนักอนุรักษ์ และชาวบ้านริมน้ำแนะควรแก้ทั้งสายน้ำ พ้อขาดการบูรณาการ
วานนี้ (6 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน้าวัดเทียนดัด อ.สามพราน จ.นครปฐม ชาวบ้านได้พบเห็นเจ็ตสกีจำนวนหลายล ติดอยู่กลางดงผักตบชวา กลางแม่น้ำท่าจีน ใกล้กับตอม่อสะพาน ซึ่งยังไม่มีทีท่าที่จะออกมาจากบริเวณดังกล่าวได้ ขณะที่ผักตบชวาก็เริ่มลอยมาติดหนาแน่นกินบริเวณกว้าง เบื้องต้น ได้มีการประสานเจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือ เนื่องจากเกรงว่าจะนักเจ็ตสกีจะอ่อนแรงเพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัด
ต่อมา นายจเร อนุรักษ์ ประธาน กต.ตร.นครชัยศรี และประธานชมรมนักเล่นเจ็ตสกีธิดาท่าจีน ได้ประสานขอความช่วยเหลือไปยัง นายวิชัย ภารักษา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลบางช้าง ได้นำเรือท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของกองทุนหมู่บ้านไปช่วยลากจูง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากจำนวนผักตบชวาลอยมาปกคลุมหนาแน่น ทำให้เรือลากจูงมีสภาพติดอยู่ในดงผักตบชวาไปด้วย จนเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 5 ชั่วโมง ความพยายามก็เป็นผลสำเร็จ โดยเรือเจ็ตสกีทั้งหมดได้ขับกลับมาที่บริเวณหน้าวัดบางช้างใต้ พร้อมกับเรือลากจูงได้โดยสวัสดิภาพ
จากการสอบถามเบื้องต้น ทราบว่า เมื่อช่วงเช้ากลุ่มนักเล่นเจ็ตสกีทั้งหมดได้ขับขี่เจ็ตสกีเพื่อท่องเที่ยวชมธรรมชาติตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน จนมาถึงบริเวณหน้าวัดเทียนดัด ใกล้กับตอม่อสะพาน ได้พบเรือของชาวบ้านติดอยู่กลางดงผักตบชวา กลุ่มนักเจ็ตสกีจึงได้พยายามเข้าไปช่วยเหลือ แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นช่วงของตอม่อสะพาน และมีเรือบรรทุกทรายขนาดใหญ่จอดขวางทางน้ำ ทำให้ผักตบชวาที่ลอยกระจัดกระจายไหลมาอัดแน่นปกคลุมในจุดดังกล่าวเป็นบริเวณกว้าง ล้อมรอบเรือเจ็ตสกีทั้งหมดอยู่กลางแม่น้ำ ขณะที่เรือลากจูงที่เข้าไปช่วยเหลือก็ไม่สามารถฝ่าดงผักตบชวาออกมาได้ ทำให้ต้องติดอยู่ในดงผักตบชวานานกว่า 5 ชั่วโมง
สำหรับพื้นทีบริเวณแม่น้ำท่าจีนนี้ จากการสำรวจจะพบว่า มีผักตบชวาลอยกระจัดกระจายทั่วบริเวณ โดยจะไหลไปตามกระแสน้ำ แต่สาเหตุที่ผักตบชวาลอยมาปกคลุมหนาแน่นในจุดที่เจ็ตสกีติดนั้นเป็นผลมาจากช่วงบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่มีตอม่อสะพานที่มีเรือบรรทุกทรายขนาดใหญ่จอดขวางทางน้ำ ทำให้ผักตบชวาไม่สามารถไหลผ่านไปได้จนลอยมาอัดแน่น
ขณะที่ผู้นำชุมชนเผยว่า จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในจุดนี้โดยด่วน โดยปัญหาผักตบชวาที่มาติดอัดแน่นในแม่น้ำท่าจีน ได้เกิดขึ้นมาหลายปี และปีละหลายครั้ง ซึ่งเคยมีกลุ่มนักอนุรักษ์ และชาวบ้านริมน้ำ ได้ให้ความเห็นว่าควรจะมีการแก้ไขทั้งสายน้ำตั้งแต่ต้นทางที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่การแก้ไขแบบบูรณาการไม่เคยได้รับการแก้ไขให้เกิดเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด