อุดรธานี - พม.นำเยาวชน 5 จว.ชายแดนใต้ กว่า 70 คน เรียนทักษะชีวิต ณ บ้านเชียง เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีทักษะชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายของแต่ละท้องถิ่น
นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในพิธีปิดการอบรมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม ปี 2560 ว่า กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีทักษะชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างมีความสุข และมีความรักสามัคคีในชาติ
ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 เมษายน-6 พฤษภาคม 2560 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ประกอบด้วย เด็กจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สตูล ยะลา และสงขลา ที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 75 คน เด็กและครอบครัวรับรองจากพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านเชียงจำนวน 75 ครอบครัว เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุดรธานี ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลบ้านเชียง ร่วมกว่า 300 คน
สำหรับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรมนั้น ได้ดำเนินการมาแล้ว 7 ปี สำหรับในปี 2560 นี้ กำหนดจัดกิจกรรมร่วมกับจังหวัดอุดรธานี โดยมีกิจกรรมย่อย 4 กิจกรรม คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชน” เพื่อฝึกฝนให้เกิดการพัฒนาทักษะชีวิตด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็ก การสร้างสัมพันธภาพ การยอมรับความแตกต่าง การเลือกตัดสินใจอย่างถูกต้อง และการทำงานเป็นทีม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างภาค การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างสัมพันธภาพระหว่างเด็กภาคใต้กับเด็กในจังหวัดอุดรธานี และการทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานี การพักกับครอบครัวรับรอง
ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว การประกอบอาชีพ และวัฒนธรรมของชุมชนที่แตกต่างให้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และการประชุมสรุปบทเรียนและประเมินผล เป็นการสรุปบทเรียน การประเมินผลความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรม และหลังจากเสร็จสิ้นโครงการเด็กจะต้องร่วมกันวางแผนการจัดกิจกรรมขยายผลให้แก่เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
นายวิทัศน์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 13 วัน พบว่าเด็กได้เรียนรู้ในวิถีชีวิตที่หลากหลาย มีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ตรงที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว และชุมชนรับรอง ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างรอบด้าน เด็กเริ่มเรียนรู้กระบวนการคิดวิเคราะห์เหตุผล การพัฒนาทักษะชีวิตแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และฝึกปฏิบัติ
ตลอดจนเปิดใจยอมรับ และเรียนรู้ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อาหาร และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ จากการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งตัวเด็ก และครอบครัวชุมชน รวมทั้งการให้เด็กได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำความรู้ประสบการณ์ด้านทักษะชีวิตไปขยายผลต่อเนื่องในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน