xs
xsm
sm
md
lg

น่าปลูกขาย! 3 ปีคืนทุน “มะม่วงแก้วขมิ้น” ออกลูกทั้งปี ตลาดอาเซียนต้องการสูง(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ เปิดงานวิจัยมะม่วงแก้วขมิ้นปลูกในไทยคุณภาพเยี่ยม วิตามินซี-แคโรทีนอยด์สูงรสชาติไม่แตกต่าง ด้านเกษตรกรชี้ตลาดต้องการปริมาณมาก ลงทุนปลูกไม่เกิน 3 ปี คืนทุนดูแลง่ายให้ผลตลอดทั้งปี เป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลน่าจะส่งเสริมเกษตรกรอย่างจริงจัง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ไร่บริพัฒน์ ต.บึงวิชัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ผศ.ดร.อุบล ชินวัง หัวหน้าโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาของมะม่วงตัดแต่งพันธุ์แก้วขมิ้น พร้อมด้วยอาจารย์สาธิต พสุวิทยกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญโรคพืชและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว และนักศึกษาภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์มามอบแก่ นายบริพัฒน์ ธัญญอุดม เจ้าของไร่บริพัฒน์ และนางระพีพร เชตุราช ผู้จัดการไร่ เป็นผู้รับมอบ

พร้อมกันนี้ ได้เปิดเผยผลการวิจัยที่นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของมะม่วง ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพ รสชาติ และคุณประโยชน์จากมะม่วงแก้วขมิ้นที่ปลูกในประเทศไทยเปรียบเทียบกับแหล่งต้นกำเนิดประเทศกัมพูชา ที่พบว่ามะม่วงแก้วขมิ้นที่ปลูกในประเทศไทยรสชาติ ขนาดและความสมบูรณ์ของผลมะม่วงไม่แตกต่างกัน

ผศ.ดร.อุบล ชินวัง หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า โครงการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงคุณภาพระหว่างการเก็บรักษามะม่วงตัดแต่งพันธุ์แก้วขมิ้น โดยคณะผู้ทำการวิจัย มีอาจารย์จำนงค์ จันทะสี และอาจารย์สาธิต พสุวิทยกุล เป็นผลงานการวิจัยโดยภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2559 ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

โดยมุ่งศึกษาวิจัยในด้านคุณภาพ คุณประโยชน์ของมะม่วงพันธุ์แก้วขมิ้นเปรียบเทียบที่ปลูกในแหล่งต้นกำเนิดจังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา และที่ปลูกในประเทศไทยโดยเลือกพื้นที่ในเขตไร่บริพัฒน์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ปลูกมานานเกือบ 6 ปี


อย่างไรก็ตาม ในความนิยมจะพบว่าประชาชนในประเทศไทยจะนิยมรับประทานผลดิบมากกว่าผลสุก ขณะที่ประเทศอาเซียนและในกลุ่มประเทศเอเชียจะนิยมผลสุกที่แปรรูปแบบอบแห้ง ทำให้ตลาดมีความต้องการสูง

ผศ.ดร.อุบลกล่าวว่า การวิจัยผ่านการทดลองพบว่าผลผลิตมะม่วงมีความใกล้เคียงกัน แต่ที่ปลูกในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ น้ำหนัก ขนาดผลมากกว่า ขณะที่สีเหลืองของมะม่วงที่ปลูกในจังหวัดอุดรมีชัยมีความเข้มกว่า ลักษณะทางเคมีของเนื้อผลพบว่าปริมาณวิตามินซีคิดเป็น (mg AAE/100mL) พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มีมากถึง 13.95 a ขณะที่ของอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชาอยู่ที่ 7.32 b ส่วนความสามารถต้านอนุมูลอิสระ หรือสารแคโรทีนอยด์ ในอัตรา (mM Trolox / 100g FW) มะม่วงที่ปลูกใน จ.กาฬสินธุ์มีมากถึง 688.52 ขณะที่นำมาจากประเทศกัมพูชาอยู่ที่ 431.03 เป็นตัวเลขที่ออกมาน่ายินดีนับว่าประเทศไทยเหมาะสำหรับปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นเป็นอย่างดี

ด้านอาจารย์สาธิต พสุวิทยกุล ผู้เชี่ยวชาญโรคพืชและวิทยาการหลังเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ ระบุว่า เทคโนโลยีการปลูก การจัดการดูแล และการเก็บผลผลิตของประเทศไทยยังถือว่าก้าวหน้ากว่าแหล่งต้นกำเนิดมะม่วงแก้วขมิ้นในประเทศกัมพูชามาก เพราะยังขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดพันธุ์ที่ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 6 ปีจึงจะได้ออกผลผลิต

ขณะที่ประเทศไทยมีทั้งการตอน เสียบกิ่ง ติดตา ที่มีระยะเวลา 3-4 ปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ความพิเศษของสายพันธุ์มะม่วงแก้วขมิ้นทนแล้ง ปรับสภาพได้ดี ให้ผลผลิตปีละ 2 ครั้ง โดยไม่ต้องทำวิธีนอกฤดู

ส่วนการให้ผลผลิตเป็นแบบทวาย หากปลูกในแบบเศรษฐกิจใช้ระยะเวลาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต 2-3 ปี น่าจะคุ้มกับการลงทุน แล้วความดกให้ผลโตน้ำหนักดี จะพบว่าบางต้นให้ผลผลิตมากถึง 100 กก. ส่วนขั้นต่ำอยู่ที่ 40-50 กก./ต้น แต่หากมองตัวเลขแล้ว ประเทศไทยมีการนำเข้ามะม่วงสายพันธุ์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดปี พ.ศ. 2557 นำเข้ามากถึง 90,464 กก. ขณะที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากไม่ว่าจะเป็นอาเซียนหรือในเอเชีย

นายบริพัฒน์ ธัญญอุดม เจ้าของไร่บริพัฒน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการสำรวจตลาดก่อนที่จะดำเนินการปลูกและขยายพันธุ์มะม่วงแก้วขมิ้นภายในสวน โดยขณะนี้พื้นที่ปลูกมะม่วงจาก 200 ไร่ ได้ขยายเพิ่มเติมไปอีกปัจจุบันเกือบ 500 ไร่ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ปัจจุบันทางไร่บริพัฒน์ ขายมะม่วงแก้วขมิ้นออกตลาดทั้งขายส่งและขายปลีก


ขณะที่กลุ่มนายทุนโรงงานใหญ่มีความต้องการมาก เกษตรกรและพื้นที่ปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นยังมีน้อยจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของการนำเข้ามะม่วงแก้วขมิ้นมายังประเทศไทยสูงเกือบ 100,000 ตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยเองปลูกมะม่วงหลายสายพันธุ์ แต่ส่งออกได้เพียงร้อยละ 2 ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากรัฐสนับสนุนอย่างจริงจัง และรวดเร็วอาจจะทำให้ประเทศไทยสามารถแย่งตลาดการค้าได้

โดยเฉพาะนวัตกรรมของเกษตรกรประเทศไทยที่ก้าวหน้า ยิ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์มะม่วงแก้วขมิ้นได้ดียิ่งขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น