xs
xsm
sm
md
lg

โอ้แม่เจ้า! ค่าปรับ 57 ล้านบาทเกษตรกรรุกล้ำเลี้ยงปลากระชังในน้ำโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หนองคาย - จังหวัดหนองคายระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาทางออกกรณีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังถูกเรียกจ่ายค่าปรับสร้างกระชังเลี้ยงปลาในแม่น้ำโขง ผิด พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย เป็นเงินกว่า 57 ล้านบาท

เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (3 พ.ค.) ที่หอประชุมประจักษ์ศิลปาคม ศูนย์ราชการจังหวัดหนองคาย นายโสภณ ห่วงญาติ นายอำเภอเมืองหนองคายรักษาราชการแทนปลัดจังหวัดหนองคาย เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังแม่น้ำโขง

โดยมีนายอำเภอท่าบ่อ, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เจ้าท่า, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดหนองคาย และตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังเข้าร่วมหารือ

นายโสภณ ห่วงญาติ นายอำเภอเมืองหนองคายรักษาราชการแทนปลัดจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 เมื่อ 23 ม.ค. 2560 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดหนองคายเนื่องจากระบุว่าการพิจารณาและอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจะต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นเงินรายได้ของแผ่นดิน กรณีนี้จังหวัดหนองคายมีเกษตรกรทำกระชังปลายื่นไปในแม่น้ำโขง

ซึ่งถือเป็นลำน้ำที่จะต้องขออนุญาตกับกรมเจ้าท่าและต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ถูกต้อง ประมาณ 3,000 กระชัง ใน 4 อำเภอ คือ อ.เมืองหนองคาย, อ.ท่าบ่อ, อ.ศรีเชียงใหม่ และ อ.โพนพิสัย

ซึ่งหากดำเนินการตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2560 ผู้เลี้ยงปลากระชังต้องมายื่นคำร้องขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าเป็นใบอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำของแม่น้ำลำคลอง ฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมตรวจสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ครั้งละ 50 บาท

กล่าวคือ จะมีการพิจารณาเก็บเงินค่ากระชังตารางเมตรละ 500 บาท ค่าธรรมเนียมเชิงธุรกิจ ตารางเมตรละ 200 บาท เกษตรกรคนหนึ่งเลี้ยงปลาในกระชังประมาณ 50-200 กระชัง หากคิดอัตราตามนี้จะต้องจ่ายค่าปรับคนละประมาณ 50,000-100,000 บาท เป็นอย่างต่ำ คิดทั้งจังหวัดเกษตรกรทั้ง 3,000 รายจะต้องจ่ายค่าปรับประมาณ 57 ล้านบาท

ซึ่งแม้ว่าเกษตรกรจะขายปลาได้เงินมาก รายจ่ายก็มากตามไปด้วยเช่นกัน และต้องดำเนินการก่อนวันที่ 22 มิ.ย. 2560 เพราะ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 มิ.ย. 2560

การหารือในครั้งนี้เป็นการพิจารณาแนวทาง หาทางออกร่วมกัน เนื่องจากอัตราที่จะต้องจ่ายค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่างๆ นั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังแจ้งว่าไม่สามารถจ่ายให้ได้เนื่องจากมีอัตราสูงเกินไป ทางจังหวัดจึงต้องมาระดมความคิดเห็นร่วมกัน และอาจต้องให้ทางกรมเจ้าท่าพิจารณาแนวทางร่วมด้วยจึงจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้
กำลังโหลดความคิดเห็น