ฉะเชิงเทรา - คณะสัตวแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ตรวจดูอาการช่วยเหลือเต่าตนุหลงเข้าไปในลำน้ำบางปะกงไกลถึงกว่า 80 กม. ระบุเพราะแม่น้ำบางปะกงเค็มต่อเนื่อง ทำเต่าทะเลไม่รู้ตัวเมื่อหลงเข้าไปจนสุดท้ายมึนงงกลับไม่ถูก เผยยังสุขภาพแข็งแรงดี พร้อมให้ยาฆ่าเชื้อ และวิตามิน ก่อนเตรียมนำส่งไปปล่อยลงทะเลที่ระยอง
วันนี้ (3 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ทีมสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นสพ.นภกานต์ สิงห์คำ สัตวแพทย์ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำจุฬาฯ ได้ลงพื้นที่มาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเข้าตรวจดูอาการ และสุขภาพทั่วไปของเต่าตนุ ที่มีชาวบ้านพบว่ายทวนลำน้ำบางปะกง เข้าไปไกลจนเกือบถึงลุ่มแม่น้ำบางปะกงตอนบนในเขตพื้นที่ อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา
โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สัตวแพทย์หญิงนันทริกา กล่าวหลังการตรวจสุขภาพของเต่าตนุเพศเมีย วัย 20 ปี พบว่า มีสุขภาพค่อนข้างสมบูรณ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และสภาพร่างกายแข็งแรงมาก สามารถอยู่ในน้ำได้นาน จากอัตราการหายใจ 2 ครั้งต่อ 10 นาที โดยพบอาการปากเปื่อยเพียงเล็กน้อย และมีบาดแผลเก่าที่ตื้นแล้วขนาดเล็กที่ด้านหลังกระดองเท่านั้น ซึ่งจะได้ทำการเจาะเลือดไปตรวจ พร้อมกับให้ยาฆ่าเชื้อแบบออกฤทธิ์นาน และวิตามินเพื่อสะสมกักตุนเอาไว้ในร่างกาย ก่อนที่จะประสานไปยังทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เข้ามารับตัวนำไปปล่อยลงสู่ทะเลต่อไป
ซึ่งจากการตรวจสุขภาพดูแล้วถือว่าสมบูรณ์มาก สามารถปล่อยลงทะเลได้เลย เพราะเต่าชนิดนี้ควรที่จะอยู่ในทะเลดีที่สุด เพราะหากอยู่ในน้ำจืด หรือน้ำที่มีความเค็มต่ำเป็นเวลานาน ก็จะทำให้ไตพังได้ ส่วนการที่หลงน้ำเข้าไปอยู่ในแม่น้ำบางปะกงลึกเข้าไปตามลำน้ำนั้น สาเหตุอาจเกิดจากการติดตามหาอาหารขึ้นไป หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบแม่เหล็กที่อยู่ในหัวของเต่ากับขั้วแม่เหล็กโลก ที่ทำงานผิดพลาดไป จึงหาทางกลับมาไม่ถูก เพราะเมื่อขึ้นไปสู่ในเขตน้ำกร่อย หรือน้ำจืดมากๆ เป็นเวลานานแล้วนั้น ก็อาจทำให้อ่อนเพลีย หรือเครียด รู้สึกมึนๆ งงๆ และทำให้กลับลงสู่ทะเลไม่ถูก
สำหรับเต่าตนุนั้นควรที่จะอยู่ในเขตน้ำที่มีความเค็มระดับ 20 ส่วนขึ้นไป และไม่ควรต่ำกว่า 15 แต่ในจุดที่เต่าไปติดอยู่แถวย่านประตูน้ำปากคลองในตำบลบางโรง อ.คลองเขื่อน นั้น ทราบจากผลการตรวจวัดของทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งว่า มีความเค็มน้อยกว่า 5 หรือประมาณ 3 เนื่องจากในจุดตรวจวัดของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา จุดที่ไกลที่สุด หรือใกล้กับบริเวณจุดที่พบเต่าที่สุด ที่บริเวณวัดสมานรัตนาราม ในเขตรอยต่อระหว่าง อ.เมือง อ.บางคล้า ก่อนที่จะถึงเขต อ.คลองเขื่อน นั้นพบว่ามีความเค็มอยู่ที่ระดับ 7 เท่านั้น
ขณะที่บริเวณจุดตรวจวัดหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านโพธิ์ มีค่าความเค็มที่ 16 ที่หน้า อ.บางปะกง ระดับความเค็มอยู่ที่ 25 และที่ปากอ่าวบางปะกงบริเวณวัดหงษ์ทอง ความเค็มอยู่ที่ 29 ที่บริเวณปากคลองตำหรุ ในเขต ต.ท่าข้าม ความเค็มอยู่ที่ 28 ซึ่งความเค็มจากต้นทาง ที่บริเวณปากอ่าวบางปะกงค่อนข้างมาก และลึกเข้าไปในลำน้ำระดับน้ำก็ยังคงมีความเค็มที่สูงอยู่ จึงทำให้เต่าทะเลเข้าไปในลำน้ำได้โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังจะไปถึงในจุดที่มีความเค็มลดต่ำลงเรื่อยๆ ได้
ขณะที่ผู้ที่ให้การช่วยเหลือเต่ามาในครั้งนี้นั้นสามารถช่วยเหลือนำกลับมาได้ด้วยดี ที่ไม่ทำให้เต่าได้รับบาดเจ็บ หรือมีบาดแผลเพิ่ม จึงทำให้เต่านั้นดูดี และมีความกระปรี้กระเปร่าสดชื่นมาก เมื่อกลับมาอยู่ในบ่อพัก ซึ่งก็ต้องขอชื่นชมหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือกลับมาว่าทำได้ดีมากที่ไม่ทำให้สัตว์ทะเลหายากตัวนี้บอบช้ำ หรือได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติมอีก รองศาสตราจารย์ ดร.สัตวแพทย์หญิงนันทริกา กล่าว