เชียงราย - เรือจีน พร้อมทีมเจ้าหน้าที่สำรวจระดับน้ำโขงถึงจุดสิ้นสุดเขตแดนไทยแล้ว ขณะที่ทีมสำรวจทางธรณีวิทยายังปักหลักเจาะหิน-ดินกลางน้ำเขตเชียงของ ท่ามกลางป้ายต่อต้านโผล่ประปราย
วันนี้ (3 พ.ค.) สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงรายแจ้งความคืบหน้าการติดตามเรือจีนสำรวจแม่น้ำโขง ตามโครงการแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 21 เม.ย.เป็นต้นมาว่า ล่าสุดเรือเจียฟู่ 3 ซึ่งเป็นเรือสำรวจทางธรณีวิทยา ได้สำรวจไปถึงแก่งไก่ บ้านแก่งไก่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ ตรงกันข้ามบ้านห้วยตาบ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว
โดยเรือลำนี้ยังคงขุดเจาะชั้นดินและหินมาตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ทั้งเกาะแก่งที่มีชื่อต่างๆ ตั้งแต่วัดสันต้นเปา ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน เช่น แก่งไก่ เกาะอนที่ ดอนผาฟ้า ฯลฯ รวมทั้งเกาะแก่งอีกหลายจุดที่ไม่มีชื่อเรียก
ขณะที่กระแสต่อต้านในพื้นที่ อ.เชียงแสน ไม่มีการขยายตัวมากนัก มีเพียงป้ายเรียกร้องให้หยุดระเบิดแก่งแม่น้ำโขงผืนใหญ่ที่เคยติดเอาไว้บนหน้าผาบริเวณจุดชมวิวผาพระ บ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง บริเวณเกาะผาเยีย ผากันตุง ฯลน เท่านั้น
ส่วนเรือสำรวจทางชลศาสตร์ชื่อเรือฉีตง 9 ยังคงสำรวจระดับน้ำอยู่บริเวณบ้านห้วยเอียน ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น และวันเดียวกันนี้มีแผนจะสำรวจด้านวิศวกรรมตั้งแต่บ้านห้วยเอียน ไปจนถึงจุดสิ้นสุดเขตการสำรวจ คือ แก่งผาได ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการอีกหลายวัน
ขณะเดียวกัน สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงรายได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงชาวบ้าน ณ ที่ทำการ ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น หลังจากเรือสำรวจของจีนเริ่มเข้าสู่พื้นที่ อ.เวียงแก่น โดยได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้นำของชุมชนหมู่บ้านห้วยลึก ห้วยเอียน และบ้านแจมป๋อง จำนวน 6 คน และชาวบ้านจำนวนหนึ่งและมอบแผ่นพับประชาสัมพันธ์งานสำรวจแม่น้ำโขงภาคสนามและการดำเนินงานโครงการดังกล่าวเบื้องต้นเพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนด้วย
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีกลุ่มชาวบ้านประมาณ 10 คนได้นำป้ายคัดค้านการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงทั้งภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ มาติดบริเวณริมแม่น้ำโขง พื้นที่หมู่ 4 ต.ม่วงยาย โดยไม่มีการเคลื่อนไหวอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ด้านนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยมีพื้นฐานเป็นวิศวกรมาก่อน เชื่อว่าการดำเนินการพัฒนาเส้นทางเดินเรือแม่น้ำโขงตอนนี้ยังอยู่ในขั้นการสำรวจเท่านั้น และหลังจากนั้นข้อมูลที่ได้ก็จะถูกนำส่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพิจารณา ซึ่งแต่ละประเทศก็ย่อมต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศตน โดยไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นหลัก
และเมื่อดูจากกระบวนการทำงานแล้วเชื่อว่ากว่าจะทำรายงานสรุปได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 2 ปี และยังต้องทำผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมอีก 1-2 ปี และในส่วนของไทยยังมีเรื่องการทำประชาคมอีก 1-2 ปี ซึ่งแม้จะทำควบคู่กันไปได้อย่างน้อยก็ใช้เวลาอีกกว่า 3 ปีถึงจะได้ข้อสรุป แต่โดยส่วนตัวแล้วตนไม่เชื่อว่าระยะเวลา 3 ปีทุกอย่างจะแล้วเสร็จ