xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการรถตู้ระยอง-จันท์ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ หลังได้รับความเดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตัวแทนชมรถตู้ระยอง ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น
ภาคตะวันออก - ตัวแทนผู้ประกอบการรถตู้ระยอง และจันทบุรี ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ และหัวหน้าขนส่งจังหวัด หลังได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายรถตู้รับจ้าง

วันนี้ (2 พ.ค.) นายวิรัช ประจวบ ตัวแทนชมรถตู้ระยอง พร้อมด้วยเจ้าของผู้ประกอบการรถตู้ส่วนบุคคล (ป้ายทะเบียนสีฟ้า) และผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง (ป้าย 30-36) จำนวน 20 คัน เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ที่ศาลากลางจังหวัด ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง เนื่องจากติดราชการ จึงมอบหมายให้ นายคมสัน เจริญอาจ ปลัดจังหวัดระยอง เป็นผู้รับหนังสือเพื่อแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ นายวิรัช ประจวบวัน ตัวแทนชมรมรถตู้ระยอง กล่าวว่า พวกตนประกอบอาชีพต้องพาผู้โดยสารในการท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากภาครัฐมีการใช้มาตรการเข้มงวดการจับกุมรถตู้ส่วนบุคคล (ป้ายทะเบียนสีฟ้า)

โดยปัญหาต่างๆ 10 ข้อ คือ 1.รถตู้ส่วนบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนประกอบการ และติดไฟแนนซ์และที่กำลังรอขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง จึงขอผ่อนผันการขึ้นทะเบียนเป็นป้ายส่วนบุคคลที่สามารถรับจ้างได้โดยไม่ผิดประเภทเพราะไม่ได้รับจ้างประจำ 2.ขอให้แยกรถยนต์นั่งไม่เกิน 12 ที่นั่ง ให้บริการในธุรกิจ และการท่องเที่ยวออกจากรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ หมวด 3 โดยให้มีกฎหมาย และพระราชบัญญัติขนส่งเป็นของในหมวดนี้โดยเฉพาะ โดยขอให้แยกเป็นรถยนต์นั่งรับจ้างไม่เกิน 12 ที่นั่งชนิดพิเศษ VIP เพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว

3.การใช้กฎหมายการจราจรการเดินรถ และอัตราความเร็วให้ใช้เทียบเคียงหรือใช้กฎหมายพระราชบัญญัติจราจรในลักษณะเดียวกันกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลพระราชบัญยัติรถยนต์ เพราะรถชนิดนี้เป็นรถยนต์นั่งมิใช่รถโดยสาร เมื่อเอามารับจ้างจึงสมควรจัดอยู่ประเภทรถยนต์นั่งรับจ้าง และบริการเป็นการเดินทางในลักษณะส่วนตัวของผู้เช่า จึงควรใช้กฎหมายพระราชบัญญัติจราจร ในหมวดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

4.ขอให้ยกเลิกใบประกอบการรถในหมวดรถยนต์นั่ง เพื่อบริการธุรกิจและการท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้บุคคลที่จะนำรถยนต์ตู้ชนิดนี้มาประกอบอาชีพจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งรับจ้างชนิดพิเศษ 6.ให้โอนย้ายรถยนต์รับจ้างไม่เกิน 11 ที่นั่ง ปัจจุบันจดทะเบียนในหมวด 30 และ 36 มารวมอยู่ในหมวดใหม่ 7.ผ่อนผันให้เจ้าของรถตู้ที่จะนำรถมาเข้าระบบรับจ้างชนิดพิเศษที่ติดภาระไฟแนนซ์ โดยให้ติดสติกเกอร์เหมือนภาษีประจำปี แทนการเปลี่ยนป้ายในลักษณะปีต่อปี จนกว่าจะสามารถเปลี่ยนป้ายได้ในเงื่อนไขของไฟแนนซ์

8.ให้ผ่อนผันการจับกุมรถตู้ส่วนบุคคลที่นำมารับจ้างออกไปจนกว่าจะจัดระเบียบแยกหมวดหมู่ให้ถูกต้อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน 9.ในระหว่างดำเนินการให้กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก และช่องทางเดินรถในประเภทรถยนต์นั่งรับจ้าง จนกว่าจะดำเนินการแยกหมวดให้เสร็จสิ้น และ 10.ให้กรมการขนส่งทางบก ยกเลิกคำสั่ง และระเบียบการขอจดทะเบียนรถตู้ส่วนบุคคลใหม่ที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิของประชาชน

นายวิรัช กล่าวว่า ในวันนี้ชมรมรถตู้เพื่อส่วนรวมแห่งประเทศไทย นำโดย นายยุทธนา อินทรายุทธ ประธานชมรมรถตู้เพื่อส่วนรวมแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ และหลังจากนั้น ได้ไปยื่นหนังสือต่อ นายชาติชาย มัฆวิมาลย์ ขนส่งจังหวัดระยอง ที่บริเวณหน้าสำนักงานขนส่ง จ.ระยอง พร้อมส่งตัวแทนรวม 5 คน เข้าพูดคุยถึงปัญหาความเดือดร้อน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้านจังหวัดจันทบุรี ที่ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ตัวแทนผู้ประกอบการรถตู้รับจ้างในจังหวัดจันทบุรี นำโดย นายธานินทร์ บัวเผื่อน พร้อมผู้ประกอบการรถตู้ไม่ประจำทาง ที่ใช้หมวดตัวเลข 30 ถึง 36 นำหน้า ได้รวมตัวกันเข้ายืนหนังสือผ่าน นายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ขนส่งจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี เพื่อส่งผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการออกกฎหมาย เนื่องจากตอนนี้ผู้ประกอบการรถตู้ VIP รถตู้รับจ้าง และรถตู้สาธารณะไม่ประจำทางหมวดป้าย 30 ถึง 36 กำลังได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวดในการจับกุมรถตู้สาธารณะที่ภาครัฐมีการบังคับใช้

โดยในวันนี้มีการยื่นเรื่องประเด็นความเดือดร้อน จำนวน 11 เรื่อง ประกอบด้วย การบังคับใช้กฎหมายกำหนดความเร็ว โดยการติดตั้งเครื่องรูดบัตร GPS จำกัดที่ระดับความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่เหมาะต่อรถขนส่ง และรสบัสทั่วไป โดยอยากให้มีการทบทวนปรับเปลี่ยนระดับความเร็วให้เหมาะสมต่อรถตู้เชิงพาณิชย์ ซึ่งกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทำให้ลูกค้าบางกลุ่มหันไปใช้บริการรถรับจ้างที่ไม่ถูกประเภทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ช่องทางเดินรถ ซึ่งบังคับให้วิ่งเลนซ้ายสุด ทั้งที่ถนน 2-3 ช่องจราจรความปลอดภัยมีจริงหรือไม่ ปัญหาเรื่องการจำกัดเวลาในการทำงาน ปัญหาเรื่องการใช้ความเร็วที่ไม่สอดคล้องต่อสภาพจราจร ปัญหาการเรียกเก็บภาษีจากกรมสรรพากร ปัญหาเรื่องการชำระค่าปรับ ปัญหาของคนที่มีรถมากกว่า 1 คัน แต่ไม่เกิน 2-3 คัน ที่จะเข้าระบบให้ถูกต้องควรหาแนวทางแก้ไข ปัญหาเรื่องการตรวจสอบ GPS ที่เหมือนเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากลูกค้าที่ใช้บริการบางกลุ่มมีอาชีพที่ไม่ต้องการเปิดเผยสถานที่อยู่ รวมไปถึงประเด็นความปลอดภัย ปัญหาเรื่องการบังคับเครื่องแต่งกาย

ปัญหาเรื่องการลงสมุดบันทึกการเดินทางซึ่งสอดคล้องต่อการไม่อยากเปิดเผยสถานที่ของกลุ่มลูกค้า และปัญหาการติดตั้ง wifi ที่ไม่ควรเพิ่มต้นทุนในการติดตั้งให้แก่เจ้าของรถในแต่ละเดือน ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ทางผู้ประกอบการรถตู้รับจ้างในจังหวัดจันทบุรี ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหาแนวทางแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ผู้ประกอบการรถตู้รับจ้าง จ.จันทบุรี ยื่นหนังสือเช่นกัน
รถตู้ในพื้นที่ จ.ระยอง-จ.จันทบุรี ที่ได้รับความเดือดร้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น