ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กรมชลประทาน จับมือกรมการข้าวและศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ทดลองวิจัยการปลูกข้าวด้วยการใช้ตอซังข้าวเดิมแทนการหว่าน ตามต้นแบบชาวนาอินโดนีเซีย ที่เชียงใหม่ พบช่วยลดต้นทุนการผลิตลงไร่ละ 1,000 บาท และประหยัดเวลาปลูกลงกว่า 30 วัน
วานนี้(28 เม.ย.60)ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน นำคณะตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการทดลองวิจัยการทำนาข้าวด้วยการใช้ตอซังข้าวเดิมแทนการหว่านด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งได้ทดลองดำเนินการอในแปลงนาสาธิตของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดําริ พร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในแปลงทดลอง
โดยการทดลองวิจัยดังกล่าวนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่, กรมการข้าว และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ในการใช้เทคนิคการปลูกข้าวแบบ SALIBU ของเกษตรกรประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้นแบบ ซึ่งหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจะตัดตอซังข้าวให้เหลือประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วปล่อยน้ำเข้าในแปลงนาไม่ให้ท่วมตอซังข้าว ประมาณ 20-25 วัน เพื่อให้ต้นกล้าใหม่งอก จากนั้นก็ถอนต้นกล้าใหม่ไปปักดำ
ทั้งนี้การปลูกข้าววิธีนี้จะช่วยประหยัดต้นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ ไปได้ประมาณไร่ละ 1,000 บาท ลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการปลูกข้าว และช่วยย่นระยะเวลาที่ใช้ในการปลูกข้าวจากเฉลี่ย 135 วันเหลือ 102 วัน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาหมอกควันได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่มีต้องเผาตอซังข้าว โดยในโอกาสนี้อธิบดีกรมชลประทานได้ มอบประกาศนียบัตร และปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรที่ผ่านหลักสูตรเกษตรทฤษฏีใหม่ เข้าอบรมและดูงานการปลูกข้าวด้วยตอซัง จำนวน 45 รายด้วย