อุบลราชธานี - คณะกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูคุณภาพน้ำลำโดมใหญ่ล่องเรือสำรวจปัญหาการเกิดสาหร่ายบูม ก่อนเสนอแก้ปัญหาเด็ดขาด โดยขุดลอกลำน้ำเอาตะกอนดินที่ตกค้างมานานหลายสิบปีออกจากหน้าเขื่อน พร้อมให้ชุมชนร่วมกันแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยลดการใช้สารเคมีต่างๆ ซึ่งทำให้มีค่าอาหารสูงจนเกิดการบูมของสาหร่ายขึ้น
วันนี้ (26 เม.ย.) นายนิกร สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูคุณภาพน้ำลำโดมใหญ่ พร้อมส่วนราชการที่เป็นกรรมการ เช่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 สำนักงานชลประทานจังหวัด ประมงจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนชาวบ้านในอำเภอพิบูลมังสาหารและอำเภอนาเยีย เข้าตรวจดูปริมาณน้ำและการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำบริเวณหน้าเขื่อนลำโดมใหญ่ บ้านสร้างแก้ว ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งตรงจุดนี้ไม่พบมีสาหร่ายบูมเกิดขึ้น
หลังจากนั้นคณะกรรมการได้ลงเรือล่องเหนือขึ้นไปตามลำน้ำจากอำเภอพิบูลมังสาหารถึงอำเภอนาเยียเป็นระยะทางกว่า 16 กิโลเมตร พบคราบสาหร่ายลอยเป็นแผ่นบางๆ กระจายอยู่ตามขอบลำน้ำเป็นจุดๆ แต่มีจำนวนไม่มากคิดเป็น 5% ของลำน้ำ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากเมื่อ 3 วันก่อนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในจังหวัด ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้ามาในลำน้ำมากขึ้น และอากาศไม่ร้อนจัดเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ตามลำน้ำไม่เกิดสาหร่ายบูมขึ้นแล้ว
ต่อมาคณะกรรมการได้ร่วมประชุมกำหนดมาตรการแก้ปัญหาและฟื้นฟูคุณภาพน้ำของแม่น้ำลำโดมใหญ่ที่วัดแก่งอำนวยนาราม บ้านแก่งกอก ต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร โดยการหารือของคณะกรรมการมีการวางมาตรการป้องกันสาหร่ายที่จะไหลผ่านการระบายน้ำของเขื่อนลำโดมใหญ่ ซึ่งมีการเปิดประตูระบายน้ำปล่อยน้ำใช้รักษาระบบนิเวศวิทยาของลุ่มน้ำความสูง 5 เซนติเมตร จำนวน 1 บาน จากทั้งหมด 4 บาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลากระชังของชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำในแม่น้ำมูลจำนวน 79 ราย
ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ประมงได้แจ้งให้ผู้เลี้ยงปลาลากกระชังปลาออกไปอยู่กลางแม่น้ำมูลที่เป็นเขตน้ำลึกไม่ให้เกิดความเสียหาย กระทั่งถึงขณะนี้ยังไม่พบปลาเลี้ยงในกระชังหรือปลาตามธรรมชาติตาย
ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 18 ล้านบาท ใช้ดูดตะกอนดินที่ไหลมาสะสมรวมกันที่บริเวณหน้าเขื่อนขึ้นไปทางเหนือน้ำเป็นระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร โดยมีตะกอนดินที่ต้องดูดขึ้นจำนวนกว่า 5 แสนคิว
สำหรับตะกอนดินที่ดูดขึ้นมาและมีแร่ธาตุอาหารมาก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดสาหร่ายบูม จะนำไปทิ้งในที่สาธารณะและให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการนำดินกลับมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ปลูกพืชแทนการใช้สารเคมี เพื่อลดปัญหาการชะล้างหน้าดินจากการทำเกษตรกรรมแล้วไหลกลับลงไปรวมกันในลำแม่น้ำโดมใหญ่ แล้วทำให้เกิดสาหร่ายบูมขึ้นอีก
นอกจากนี้ จะมีการบริหารจัดการน้ำทิ้งจากชุมชน ซึ่งเป็นสาเหตุให้น้ำเสียจากครัวเรือนไหลลงแม่น้ำจนสร้างปัญหาขึ้น ส่วนโรงงานแป้งมันของเอกชนที่เคยเกิดบ่อบำบัดน้ำเสียแตกเมื่อสองปีก่อน ปัจจุบันได้จัดทำผนังกั้นน้ำบ่อบำบัดมูลค่ากว่า 180 ล้านบาท เพื่อใช้ป้องกันการแตกได้อย่างถาวรแล้ว
โดยทางโรงงานได้ช่วยในการฟื้นฟูสภาพแม่น้ำ ด้วยการปล่อยสัตว์น้ำลงสู่ลำน้ำเพื่อปรับสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี ขณะเดียวกัน หลังการขุดลอกตะกอนดินที่ตกค้างมานานหลายสิบปีเสร็จแล้ว สำนักงานชลประทานจังหวัดจะได้จัดสรรงบประมาณมาสร้างสถานีสูบน้ำเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโดมใหญ่ขึ้นใช้ในการทำเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง ด้านผลกระทบน้ำใช้ในครัวเรือนไม่มี เพราะไม่มีการนำน้ำจากแม่น้ำขึ้นไปใช้ในการผลิตประปา
แต่จะมีผลกระทบต่อชาวบ้านที่ออกจับปลาในลำน้ำมีอาการคันจากค่าของความเป็นกรดเป็นด่างที่สูงกว่าปกติ โดยค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ที่ตรวจวัดวันนี้ จำนวน 2 จุด คือ บริเวณวัดเจริญศรีสุข บ้านโนนสุข ต.ไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร มีค่า 7.31 และที่ใต้แนวสายไฟแรงสูง 6.58 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
นายนิกร สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูคุณภาพน้ำลำโดมใหญ่ กล่าวถึงปัญหาสาหร่ายบูมหลังล่องเรือดูตามลำน้ำ พบมีจำนวนน้อย และเป็นแค่แผ่นบางๆ ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว กรมเจ้าท่าจะมาทำการขุดลอกดูดตะกอนดินที่ตกค้างอยู่บริเวณหน้าเขื่อนลำโดมใหญ่ออก และจะมีการทำจุลินทรีย์จากนักวิชาการลงไปเติมในน้ำ เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำเสียให้กับลำน้ำนี้อย่างถาวรด้วย
ส่วนแนวทางการใช้น้ำผลักดันอาจยังไม่ทำในช่วงนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีฝนตกลงมาในพื้นที่ทำให้สถานการณ์ในลำน้ำดีขึ้น และไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปลาในกระชังตอนท้ายน้ำและในแม่น้ำมูลที่ลำน้ำโดมใหญ่ไหลลงไปรวมกัน
ขณะที่นายสุเวช จันทร์จิตร์ นายก อบต.ไร่ใต้ กล่าวว่า ปรากฏการณ์สาหร่ายบูมที่เกิดขึ้นในปีนี้ดีกว่าเมื่อสองปีก่อน และเกิดขึ้นไม่มาก อาจเนื่องมาจากสองปีที่ผ่านมาน้ำฝนได้มีการชะล้างสารตะกอนตกค้างบริเวณหน้าเขื่อนออกไปเป็นระยะ
แต่สิ่งที่ชุมชนต้องการคือ ให้มีการจัดสร้างสถานีสูบน้ำส่งน้ำไปใช้ทำเกษตรกรรม หลังมีการขุดลอกตะกอนดินที่ตกค้างมานานออกไป เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้จากการปลูกพืชในฤดูแล้งด้วย