เชียงราย - กรมเจ้าท่า ร่อนหนังสือแจ้งผ่านสื่อ ยันเรือจีนแค่สำรวจ ยังไม่มีบึ้มเกาะแก่งกลางน้ำโขง ย้ำต้องทำทั้ง EIA-SIA ประกอบการพิจารณา
วันนี้ (24 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่า ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับที่ 30/2560 ว่า กรณีที่มีสื่อมวลชนได้เสนอแนะให้พิจารณาโครงการแผนพัฒนาการเดินเรือแม่น้ำโขงด้วยความรอบคอบ ในประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและรายได้ที่สำคัญของประชาชนลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงนำเสนอเรื่องการพัฒนาร่องน้ำแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือขนาด 500 ตันกรอส สามารถส่งสินค้าผ่านประเทศพม่า ไทย และ สปป.ลาว ได้ตลอดทั้งปีทำให้ประเทศจีนได้ประโยชน์มากที่สุด และการระเบิดเกาะแก่งจะทำให้อาณาเขตประเทศไทยลดลงจากเดิมนั้น
ทางกรมเจ้าท่าขอชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ปี 2543 ระหว่าง 4 ประเทศ คือ ไทย จีน พม่า และ สปป.ลาว เพื่อให้การเดินเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศสมาชิกสามารถทำได้สะดวก ปลอดภัย โดยอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมและเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่า สถิติการค้าชายแดนทางเรือแม่น้ำโขง ผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ในปี 2556-2559 ประเทศไทยได้ดุลการค้าเกินดุลประมาณ 11,000-15,000 ล้านบาทต่อปี
กรมเจ้าท่าชี้แจงอีกว่า สำหรับความห่วงใยในการระเบิดเกาะแก่งเพื่อพัฒนาร่องน้ำ และอาจทำให้อาณาเขตประเทศไทยลดลงจากเดิมนั้น ครม.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและมีมติเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมาแล้วว่า ให้ฝ่ายไทยเข้าร่วมดำเนินการเบื้องต้น ซึ่งจะเป็นการศึกษา สำรวจและออกแบบ โดยการดำเนินการต้องไม่ส่งผลกระทบต่อแนวร่องน้ำลึกและเขตแดนระหว่างประเทศ รวมถึงต้องนำผลการศึกษาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการใดๆ ด้วย เพราะมีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบดังกล่าว
ดังนั้นจึงยังไม่มีการขุดลอก ระเบิดหรือปรับปรุงร่องน้ำใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีการดำเนินการศึกษา โดยที่ปรึกษาจากประเทศจีนตามเงื่อนไขแหล่งเงินทุนจาก ASEAN-China Maritime Cooperation Fund แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามการพิจารณาของ 4 ประเทศ ที่ต้องครอบคลุมทั้งด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผลกระทบทางสังคม (SIA) ดังนั้นเรื่องผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศ และความอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำโขง จะได้รับการพิจารณาจากผลการศึกษาอย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ายังเสนอให้เพิ่มการศึกษาด้านการมีส่วนร่วมไว้ในโครงการด้วย เพื่อให้ที่ปรึกษาจากประเทศสมาชิกร่วมดำเนินการ และมีการลงพื้นที่ร่วมประชุมกับกลุ่มรักษ์เชียงของ ประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่แล้วหลายครั้ง เพื่อชี้แจงข้อมูล รับฟังข้อคิดเห็น ประสานข้อมูล งานวิจัยจากกลุ่มรักษ์เชียงของ เพื่อนำเสนอฝ่ายจีนให้ทราบและนำไปประกอบการศึกษาต่อไป