xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนแม่เมาะ ควงทนายยื่นศาลปกครองสั่งระงับเวทีประชาพิจารณ์สร้างโรงไฟฟ้าใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - แกนนำตัวแทนภาคประชาชนแม่เมาะ พร้อมทนายความยื่นคำร้องศาลปกครองเชียงใหม่ ขอสั่งระงับเวทีประชาพิจารณ์ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หลังห่วงไม่เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมาย และยังไม่ได้ดำเนินการทำ EHIA ใหม่ ทั้งที่เพิ่มกำลังผลิตจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 655 เมกะวัตต์

วันนี้ (21 เม.ย. 60) ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ นายสุนทร ใจแก้ว อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตําบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลําปาง พร้อมด้วยตัวแทนแกนนำภาคประชาชนอำเภอแม่เมาะ ประมาณ 10 คน และนางสาวณัฏฐ์ศศิ หมูแก้วเครือ ทนายความของกลุ่ม เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อขอระงับการทำประชาพิจารณ์ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ทั้งนี้ เนื่องจากมีความกังวลและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายที่การดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นจะต้องผ่านหลายกระบวนการตามกฎหมาย โดยที่ผ่านมา กฟผ.แม่เมาะ ได้ทำในเรื่องของการทำโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันพบว่าตามข้อมูลข่าวมีการระบุว่าเครื่องที่จะดำเนินการนั้นเป็นเครื่องขนาด 655 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ.แม่เมาะจะต้องดำเนินการทำ EHIA ใหม่ เนื่องจากตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นระบุว่าจะต้องทำให้สำเร็จเสร็จสิ้นก่อน รวมทั้งต้องมีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อีกทั้งต้องจัดให้มีทั้งองค์กรอิสระหรือหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความเห็นอีกมากมายถึงจะสามารถดำเนินการได้ แต่เวลานี้ยังไม่ได้มีการทำ EHIA ดังกล่าวใหม่แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังตั้งประเด็นในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 29 เม.ย. 60 ที่จะถึงนี้ด้วย ซึ่งตามหลักการที่จะรับฟังความคิดเห็นต้องเป็นตามการทำตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะต้องมีขั้นตอนการประกาศให้ประชาชนรับรู้ และมีขั้นตอนที่จะต้องให้ประชาชนเข้าถึงข่าวสารก่อน ถึงจะมีการรับฟังได้ รวมถึงวิธีการที่รับฟังนั้นจะมีหลากหลายซึ่งอยู่ใน พ.ร.บ. แต่วิธีการที่ทาง กฟผ.แม่เมาะเลือกนั้นเป็นวิธีการโดยให้ประชาชนเข้ามารับข้อมูลข่าวสารในการจัดประชุมแล้วจึงให้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจา

น.ส.ณัฏฐ์ศศิ หมูแก้วเครือ ทนายตัวแทนแกนนำภาคประชาชนอำเภอแม่เมาะ กล่าวว่า สิ่งที่มีความน่าเป็นห่วงคือ เนื่องจากว่าในการรับฟังความคิดเห็นในวันดังกล่าวตามกำหนดการแล้วนั้นจัดให้มีขึ้นในเวลา 08.00-12.00 น. โดยจะมีการฟังอภิปราย และการให้ข้อมูลเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจึงจะมีช่วงเวลาที่ให้รับฟังความคิดเห็น คือ ช่วงเวลาตั้งแต่ 09.15-11.30 น. แต่หลักปฏิบัติและหลักกฎเกณฑ์ของทางผู้จัดนั้น ทางประชาชนและตัวแทนกลุ่มแม่เมาะ มองว่าเป็นข้อปฏิบัติที่จำกัด ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ เนื่องจากผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นได้นั้นต้องลงทะเบียนให้เรียบร้อยเสียก่อน หากไม่มีการลงทะเบียนจะไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น รวมทั้งในการรับฟังการแสดงความคิดเห็นนั้นจะให้เวลาต่อคนที่จะแสดงความคิดเห็นได้เพียงแค่ไม่เกิน 5 นาที ซึ่งถือเป็นเวลาที่น้อยตั้งแต่ 09.15-11.30 น. เฉลี่ยแล้วหากอยู่ที่ 5 นาทีต่อคน ก็มีคนแสดงความคิดเห็นได้ไม่เกิน 30 คนแน่นอน แต่ประชากรแม่เมาะมีอยู่ประมาณ 40,000-50,000 คน

การยื่นคำร้องครั้งนี้หวังจะขออำนาจศาลให้มีการระงับเรื่องนี้ไว้ก่อน แล้วมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ รวมถึงให้มีการเปิดกว้างมากกว่านี้ เนื่องจากผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นได้นั้นไม่ใช่เพียงแค่ประชาชน อ.แม่เมาะ แต่ยังเป็นประชาชนทั้ง จ.ลำปาง รวมถึงภาคเหนือ และทั้งประเทศด้วย เนื่องจาก กฟผ.แม่เมาะ เป็นกิจการเพื่อสาธารณประโยชน์เพื่อประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะคนแม่เมาะเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วในส่วนของประชาชนไม่ได้มุ่งหวังที่จะคัดค้านแต่อย่างใด แต่จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ ตามกฎหมายเสียก่อน เพราะว่ามันมีผลกระทบจริงๆ และตามกฎหมายก็ได้มีการบัญญัติไว้แล้วว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 100 เมกะวัตต์ ขึ้นไปอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรงได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำ EHIA ก่อนถึงจะก่อสร้างได้ และรับฟังความคิดเห็นก่อน รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ ต้องให้ความเห็นในการดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนถึงจะดำเนินการก่อสร้างได้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดที่ทาง กฟผ.แม่เมาะได้มีการประกาศเลื่อนการแสดงความคิดเห็นออกไปอีก 2 สัปดาห์นั้น ทางกลุ่มและทางตัวแทนยังไม่ได้รับทราบเรื่องแต่อย่างใด โดย ณ วันนี้ที่มาข้อมูลพื้นฐานทราบเพียงว่าในวันที่ 29 เม.ย.60 นี้จะมีการจัดขึ้นเนื่องจากมีการขึ้นป้ายต่างๆ มากมาย ในการขึ้นป้ายหรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารประชาชนก็ต้องติดประกาศหรือเผยแพร่ในประกาศต้องให้ประชาชนรับรู้ถึงทั้งวิธีการ ระยะเวลา สถานที่ รวมถึงข้อมูลการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เนื่องจากเมื่อมีการแจ้งว่าจำเป็นที่จะต้องลงทะเบียนก่อนแต่ประชาชนไม่ทราบข้อมูลเลยว่าต้องลงทะเบียนก่อนแต่ไปวันนั้นไปลงทะเบียนก็ทำให้ไม่ทราบข้อมูลข่าวสารที่จะแสดงความคิดเห็นได้ รวมทั้งการติดประกาศต่างๆ จะต้องติดล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ที่จะทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ทั้งสถานที่ที่จะก่อสร้าง ทั้งสถานที่ติดประกาศของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงาน กฟผ.แม่เมาะเอง

นอกจากนี้ยังต้องมีการขึ้นประกาศการรับฟังความคิดเห็น ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ปัจจุบันก็พบว่ายังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น