xs
xsm
sm
md
lg

จ่อหมดเกลี้ยง! น้ำดิบผลิตประปา “กปภ.นครราชสีมา” ผู้ว่าฯ โคราชห่วงเร่งหาเติมก่อนวิกฤต (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น้ำน้อย เขื่อนประตูระบายน้ำตามลำตะคองแต่ละแห่ง ต้องเปิด-ปิดบริหารจัดการน้ำตามแผนกันอย่างเข้มงวด
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- แล้งคุกคามโคราช 24 หมู่บ้านจ่อขาดน้ำอุปโภคบริโภค เผย 3 อำเภอ ด่านขุนทด-ปากช่อง-สีคิ้วแล้งสุด ขณะน้ำเขื่อนใหญ่ 5 แห่งน้ำเหลือน้อยไม่ถึง 50% ของความจุ ระบุน่าห่วง กปภ.นครราชสีมาเหลือน้ำดิบผลิตประปาอีกไม่ถึง 100 วัน เร่งหาน้ำเติมก่อนวิกฤต ระบุแม้ปีนี้โคราชฝนตกน้อยแต่บริหารจัดการดีเร่งสูบน้ำกักเก็บทำให้พื้นที่ขาดแคลนน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว

วันนี้ (20 เม.ย.) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.นครราชสีมา ว่า จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีหมู่บ้านที่คาดว่าจะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 24 หมู่บ้าน 15 ตำบล ใน 7 อำเภอ แต่ขณะนี้ต้องมีการแจกจ่ายแล้วเพียงหมู่บ้านเดียว คือ หมู่บ้านหนองกระโดน ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปีที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันที่ต้องแจกจ่ายไปถึงกว่า 80 หมู่บ้าน การแก้ไขปัญหา คือ ให้หมู่บ้านดังกล่าวนี้ทำโครงการขอขยายเขตน้ำประปาพื้นที่อำเภอจัตุรัส จ.ชัยภูมิ เข้ามาเพื่อต่อเข้ากับระบบประปาหมู่บ้านให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภค

อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมแล้วแม้ว่าปีนี้จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่เราสามารถเก็บกักน้ำตามบ่อ และสระน้ำในพื้นที่ต่างๆ ไว้ใช้ได้จำนวนมาก เนื่องจากมีการเตรียมการดีและได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรชาวนาไม่ปลูกข้าวนาปรังทำให้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่พอที่จะใช้ตลอดฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน
แห้งเหือด... แม่น้ำลำตะคอง เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเมืองโคราช ทั้งการอุปโภคบริโภค อุสาหกรรมและการเกษตร วันนี้ ( 20 เม.ย.)
ส่วนแหล่งน้ำดิบของการประปาเทศบาลนครนครราชสีมา และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ใน จ.นครราชสีมา อีก 10 แห่งนั้นคาดว่าไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาอยู่ที่การประปาส่วนภูมิภาคนครราชสีมาที่ให้บริการน้ำประปาในเขตพื้นที่รอบนอก อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ล่าสุดมีปริมาณน้ำดิบเหลือใช้ผลิตประปาได้อีกประมาณไม่ถึง 100 วันเท่านั้น ซึ่งจะเข้าไปดูว่าจะหาแหล่งน้ำจากที่ไหนมาสำรองให้ได้มากกว่า 100 วันต่อไป ซึ่งภาวะภัยแล้งในขณะนี้ทางจังหวัดนครราชสีมาได้สั่งให้ทุกอำเภอตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา และคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า ทางด้านภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 5 แห่งของ จ.นครราชสีมา ขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 50% ของความจุ แต่อย่างไรก็ตามปีนี้มีการวางแผนบริหารจัดการที่ดี ในการจำกัดการปล่อยน้ำ การคำนวณการใช้น้ำ และการขอความร่วมมือให้ประชาชนบริเวณทั้งสองฝั่งลำน้ำไม่ให้ปลูกข้าวนาปรัง และจับตาการใช้น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนชาว จ.นครราชสีมาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค

สำหรับการปลูกข้าวนาปรังนั้น ในแต่ละปีปลูกทุกลุ่มน้ำรวมประมาณ 4 หมื่นกว่าไร่ ในปีที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมืองดปลูกได้กว่า 2 หมื่นไร่ แต่ปีนี้เราทำงานกันเต็มที่ปรากฏว่าพี่น้องชาวนาลดปลูกข้าวนาปรังลงเหลืออยู่ประมาณ 1 หมื่นไร่ ถือว่าให้ความร่วมมือดีมีพื้นที่ปลูกลดลงมาก และกำลังส่งเสริมให้ปลูกพืชฤดูแล้งทดแทน

ทั้งนี้ อำเภอที่คาดว่าจะประสบภาวะภัยแล้งรุนแรง และน่าเป็นห่วง มี 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ด่านขุนทด, อ.ปากช่อง, อ.สีคิ้ว เนื่องจากฝนไม่ค่อยตก บางหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่สูงมีฝนตกแต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ อย่างไรก็ตาม เราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเราพยายามสูบน้ำจากแหล่งน้ำไกลๆ ไปเติมไว้เพื่อไม่ให้พี่น้องขาดแคลนน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยเด็ดขาด นายวิเชียรกล่าวในตอนท้าย
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯนครราชสีมา
กำลังโหลดความคิดเห็น