xs
xsm
sm
md
lg

มทภ.3 ยกคณะฟังเสียงคนสะเอียบ ชงสร้างอ่างฯ-ฝายแทนแก่งเสือเต้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - แม่ทัพภาคที่ 3 นำคณะฟังเสียงคนสะเอียบเสนอแผนพัฒนาลุ่มน้ำยมตามแนวทาง “สะเอียบโมเดล” แทนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น


วันนี้ (20 เม.ย.) พลโท วิจักขฐ์ ศิริบรรณสพ แม่ทัพภาคที่ 3 พร้อมคณะ ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมหารือแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำแม่ยมตอนบนตามแผน “สะเอียบโมเดล” ที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับชาวบ้านดำเนินการศึกษา ณ ศาลาวัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยมีนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นำข้าราชการ-ชาวบ้านกว่า 700 คนเข้าร่วม

ที่ประชุมได้เปิดให้ชาวบ้านนำเสนอความต้องการตามที่ได้มีการศึกษาไว้ คือ การสร้างอาบเก็บน้ำลุ่มน้ำยม 5 จุด คือ 1. อ่างเก็บน้ำห้วยลากปืน, 2. อ่างเก็บน้ำห้วยแม่เต้น-นาอ้อ, 3. อ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2, 4. อ่างเก็บน้ำแม่พร้าวตอนบน และ 5. อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปุง ซึ่งจะสามารถกักน้ำได้ 33.60 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมเสนอให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ-ฝายกั้นลุ่มน้ำยมใน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา และ ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ รวมแล้วกว่า 30 แห่ง ซึ่งจะสามารถเก็บน้ำได้ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายชุม สะเอียบคง อดีตแกนนำต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่า สะเอียบโมเดล เป็นแผนสำคัญที่ชาวบ้านยอมรับและสนับสนุนให้ทางราชการเร่งสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ซึ่งจะเป็นแหล่งน้ำของชาวบ้านเอง และน้ำต้นทุนที่จะสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งให้กับลุ่มน้ำยม

“ถ้าทำทั้งหมดเชื่อว่าจะมีน้ำพอแก้ปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำยมแน่นอน ซึ่งก็ต้องอยู่ที่ดุลพินิจของแม่ทัพภาคที่ 3 จะยอมรับหรือไม่ ถ้าเห็นความสำคัญของชาวบ้านปัญหาการพัฒนาในลุ่มน้ำยมก็จะดำเนินไปได้”

นายสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่า สะเอียบโมเดลเป็นโครงการที่ชาวสะเอียบ และหน่วยราชการ นักวิชาการร่วมกันคิดหาทางออกที่ดี และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งถ้าทางรัฐบาลเห็นด้วยก็จะไม่เกิดความขัดแย้ง แต่ที่ยังมีปัญหาคือ การดำเนินการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่ ยังติด พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ที่ไม่สามารถทำอ่างเก็บน้ำได้ ซึ่งต้องเรียนให้แม่ทัพภาคที่ 3 ทราบและหาทางออกร่วมกันต่อไป

นายเดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ทางรัฐบาลให้ความสนใจข้อเรียกร้องของประชาชน ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง เปลี่ยนจากความขัดแย้งหันมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ การประชุมกับแม่ทัพภาคที่ 3 ครั้งนี้เหมือนเป็นการทำประชาคมให้เห็นถึงความตั้งใจประชาชน ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่กำลังทำ ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรก็พร้อมเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการร่วมกับชาวบ้านสำรวจพื้นที่เพื่อให้แนวคิดของชาวบ้านเป็นรูปธรรม

พลโท วิจักขฐ์กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นการมาฟังความต้องการ และเจตนาของชาวบ้านสะเอียบที่จะร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งต้องจัดลำดับความสำคัญว่าจะทำอย่างไรก่อน เดือนหน้าก็จะมาอีกเพื่อรับฟังเพิ่มและดูความต้องการของประชาชนว่าจะเป็นอย่างไร

“ในภาพรวมที่ชาวบ้านศึกษามา หรือสะเอียบโมเดลนั้น เห็นด้วยส่วนใหญ่ที่จะร่วมกัน แต่ต้องฟังเสียงชาวบ้านให้มากขึ้น และในฐานะที่ทำหน้าที่รับผิดชอบตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็จะนำเสนอให้รัฐบาลทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถทำทุกอย่างให้เสร็จดังใจได้ แต่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาให้งานเดินไปได้ ซึ่งต้องขอฝากทางชาวบ้านแทนรัฐบาลด้วยคือ ต้องช่วยกันอนุรักษ์ป่าเพิ่มขึ้นอีกต่อไป”

กำลังโหลดความคิดเห็น