xs
xsm
sm
md
lg

พบ “เป็ดหงส์” สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์โผล่อาศัยอยู่ในทะเลบัวแดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - ใกล้สูญพันธุ์! พบ “เป็ดหงส์” สัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ โพล่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหาน กุมภวาปี หรือทะเลบัวแดง คาดบินพลัดหลงฝูง ขณะที่จากการสำรวจในรอบ 5 ปีมีนกที่สำรวจพบในทะเลบัวแดงมากกว่า 202 ชนิด

นายโนรี ตะถา หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหาน กุมภวาปี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 จ.อุดรธานีเปิดเผยว่า จากการลาดตระเวนตรวจสอบพันธุ์สัตว์ในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหาน กุมภวาปี เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และล่าสุดวานนี้ (19เม.ย.) พบว่าขณะนี้ในหนองหาน กุมภวาปี หรือทะเลบัวแดง มีทั้งนกอพยพ และนกประจำถิ่นอาศัยอยู่หลากหลายสายพันธุ์ และจากสถิติที่เคยสำรวจในรอบ 5 ปีมีนกที่สำรวจพบเจอกว่า 202 ชนิด

ในจำนวนนี้รวมถึงนกจำพวกหายาก เช่น นกเป็ดเท่าพันธุ์อินเดีย นกยางโทน นกอีแจว นกอีโก้ง เป็ดกับแก เป็ดอีเล็ก เป็ดแดง ทั้งนี้ ประชากรนกตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน สาเหตุที่นกมาอาศัยในพื้นที่เพราะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ และระบบนิเวศมีความปลอดภัย

นายโนรีบอกอีกว่า ล่าสุดตอนนี้ที่สำรวจเจอนกหายากชนิดหนึ่ง คือ เป็ดหงส์ ซึ่งพบเพียงตัวเดียว คาดว่าบินพลัดหลงฝูง ทั้งนี้เคยพบนกเป็ดหงส์เมื่อปี 2558 ตอนนั้นพบเจอประมาณ 7-8 ตัว สำหรับในประเทศไทยพบน้อยมาก โดยปี พ.ศ. 2529 พบ 10 ตัว ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ ปี พ.ศ. 2531 พบ 1 ตัว ที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และล่าสุดพบที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรธานี


สำหรับเป็ดหงส์ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Knob-billed duck, Comb duck ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sarkidiornis melanotos) อยู่ในวงศ์นกเป็ดน้ำ (Anatidae) จัดเป็นเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Sarkidiornis ปกติเป็ดหงส์มีลำตัวประมาณ 76 เซนติเมตร มีจะงอยปากสีดำ แถบบนปีกสีบรอนซ์สะดุดตา

ตัวผู้มีส่วนหลังสีดำเหลือบสีเขียวแกมฟ้าและสีม่วง ส่วนหัวและลำคอสีขาว มีจุดประสีดำ แถบสีดำรอบด้านหลังคอพาดลงไปถึงด้านข้างของส่วนอก และอีกแถบพาดลงไปด้านข้างของส่วนหาง

มีถิ่นอาศัยกว้างขวางมาก ตั้งแต่ ปากีสถาน, อินเดีย, ศรีลังกา, บังกลาเทศ, พม่า และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนตะวันตกเฉียงใต้ ยังพบในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ เป็ดหงส์มักอาศัยอยู่ในป่าดิบทึบ ชอบที่จะเกาะคอนไม้สูงๆ อาศัยเป็นที่หลับนอน อาศัยอยู่รวมเป็นฝูง ซึ่งเป็นครอบครัวประมาณ 4-10 ตัว

หากินโดยการไซ้กินหัวและยอดอ่อน ตลอดจนเมล็ดของพืชน้ำ, เมล็ดข้าว, แมลงน้ำ และอาจกินสัตว์น้ำอย่างกบ, เขียด และปลาได้ด้วย มีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน

ขอบคุณภาพจาก เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหาน





กำลังโหลดความคิดเห็น