xs
xsm
sm
md
lg

เต็มสูบ..อพท.ดันชุมชนทางเชื่อม 3 เมือง ต่อยอด ‘มรดกพระร่วง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - อพท.ดันเต็มสูบ! ถนนพระร่วงเชื่อม 3 เมืองมรดกโลก ทั้งเมืองโบราณกำแพงเพชร สุโขทัย และศรีสัชนาลัย เปิดที่เที่ยวใหม่ “ปรางค์เขาปู่จ่า-แหล่งสกัดหินชนวน-แหล่งตัดศิลาแลง” ดึงรายได้ท่องเที่ยวสร้างชุมชนยั่งยืน

นายประครอง สายจันทร์ รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.4) เปิดเผยว่า อพท.ยังคงเดินหน้าหนุนการท่องเที่ยวภายใต้แบรนด์ “มรดกพระร่วง” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากแนวถนนพระร่วงโบราณที่เชื่อมโยงเมืองมรดกโลกทั้ง 3 แห่ง (เมืองโบราณกำแพงเพชร สุโขทัย และศรีสัชนาลัย) ในการคมนาคมขนส่งแล้ว ตลอดเส้นทางก็ยังมีเรื่องราวเล่าขานไว้ด้วยตำนาน

เริ่มจากเมืองศรีสัชนาลัย ณ “บ้านคุกพัฒนา” ที่พระร่วงเจ้าได้ใช้เท้าเกลี่ยดินจนเกิดเป็นถนนสำหรับใช้วิ่งว่าว ครั้นว่าวขาดหลุดลอยจนต้องวิ่งตามก็มาสะดุดหกล้มเป็นรอยที่ลานผาหิน “บ้านนาเชิงคีรี” อ.คีรีมาศ สถานที่ต่างๆ เหล่านี้มีตำนานพระร่วงอ้างอิงไว้อย่างน่าทึ่ง

สำหรับชุมชนบ้านคุกพัฒนา ที่เป็นจุดเริ่มต้นตำนานพระร่วงวิ่งว่าว อพท.4 ได้เข้าสำรวจตั้งแต่ปี 2555 พบว่าผู้คนยังคงเล่าขานและสืบสานภูมิปัญญาอย่างเหนียวแน่น จึงส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวขึ้นมา ทั้งการเข้าพักโฮมสเตย์ ชมกิจกรรมทำว่าว ประเพณีบวงสรวงบูชาว่าวพระร่วง และจัดประกวดว่าวพระร่วง-พระลือเป็นประจำทุกปี

“สิ่งที่เน้นคือต้องส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และรวมกลุ่มกันทำงานจึงจะเดินไปได้ และปัจจุบันชุมชนบ้านคุกพัฒนาก็เป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปแล้ว”

ส่วนที่ ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ จากการสำรวจพบว่ายังคงมีสถานที่อ้างถึงตำนานพระร่วง เช่น “เขาพระลือ” ซึ่งถูกพระร่วงเตะกระเด็นมาตกอยู่ที่หน้าเขาหลวง และรอยพระร่วงหกล้มจากการวิ่งว่าว ชาวบ้านเรียกกันว่า “รอยกระโปกพระร่วง” รวมทั้งมี “ปรางค์เขาปู่จ่า” ปรางค์ขอมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในสุโขทัย และมีแหล่งสกัดหินชนวนคุณภาพดี เนื้อละเอียด ที่อาจใช้สร้างศิลาจารึกหลักสำคัญต่างๆ ด้วย

ซึ่งปัจจุบันคนในชุมชนก็ยังคงเคารพศรัทธาสถานที่สำคัญ และสืบสานวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ เช่น ประเพณีสักการะพระแม่ย่า (รูปเคารพโบราณ) การทำลอนตาล น้ำตาลสด น้ำตาลปึก และชุมชนตลอดสองข้างถนนพระร่วงก็ยังมีต้นตาลอยู่อีกมากมาย ดูเป็นภาพที่สวยงามด้วย

รักษาการผู้จัดการ อพท.4 กล่าวเสริมอีกว่า อพท.ได้ส่งเสริมให้เครือข่ายประชารัฐทั้งหน่วยงานท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และชาวบ้านร่วมกันสำรวจศึกษาของดีในท้องถิ่นตัวเอง และหาแนวทางส่งเสริมเป็นกิจการเพื่อการท่องเที่ยว ดึงเม็ดเงินเข้าสู่ท้องถิ่น

ขณะที่ตำนานพระร่วงวิ่งว่าวมาตามถนนยังหลงเหลือเรื่องราวสัมพันธ์เล่าขานในหมู่คนกำแพงเพชรถึงศรีสัชนาลัย และในชุมชนได้พบความสำคัญในการคมนาคมมาตั้งแต่โบราณ ทั้งการเคลื่อนย้ายเครื่องสังคโลก ศิลาแลง และหินชนวน มรดกที่มีอยู่ในชุมชนเป็นต้นทุนที่มีมูลค่า สามารถเอามาต่อยอดได้

สำหรับศักยภาพ ของดีของเด่นในชุมชนนาเชิงคีรี ที่ อพท.เล็งเห็น ได้แก่ การทำน้ำตาลโตนด ทั้งน้ำตาลสดและงบ และยำกรวยตาล รวมถึงผักพื้นบ้านกับของป่า เช่น ผักหวาน และดอกดินที่ใช้ทำขนมได้ นั่นคือมรดกโลกกินได้ พัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวได้ หรือเรียกว่าGastronomy Tourism การท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ส่วนสถานที่ต่างๆ ที่มีอ้างถึงในตำนาน และบันทึกทางประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง รวมถึงน้ำจากโซกชมพู่ ซึ่งรัชกาลที่ 4 มีพระราชหัตถเลขาชมว่าน้ำกินดี อีกทั้งชุมชนยังมีการค้นพบแหล่งตัดหินชนวน “เขาหินชุ” ขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญในการใช้ก่อสร้างเมืองสุโขทัย รวมถึงแหล่งตัดศิลาแลงที่ชาว ต.สารจิตร อ.ศรีสัชนาลัย สำรวจพบเมื่อไม่นานมานี้

“นี่คือต้นทุนสำคัญแห่งมรดกพระร่วง ซึ่งเมื่อนำมาส่งเสริมเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวจะนำมาซึ่งรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนอย่างยั่งยืนในเร็ววันนี้”

นายบุญส่ง ชำนาญเสือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเชิงคีรี กล่าวว่า อบต.นาเชิงคีรี และ อพท.4 มีแผนขับเคลื่อนพัฒนาการท่องเที่ยวให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยภายในปี 2560 จะส่งเสริมความสามารถชุมชนด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวในเขต อบต.นาเชิงคีรี เพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรรองรับการท่องเที่ยว รวมทั้งจัดทำแผนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนด้วย

อ.เคียง ชำนิ นักประวัติศาสตร์สุโขทัย กล่าวว่า สำหรับแนวถนนพระร่วงอาจแบ่งเป็นสายเหนือ คือ จากสุโขทัยไปศรีสัชนาลัย และสายใต้คือ จากสุโขทัยไปกำแพงเพชร รวมระยะทางจากกำแพงเพชรไปศรีสัชนาลัยประมาณ 123 กม. และสามารถจำแนกจากลักษณะการใช้งานได้สองทาง คือ ใช้เป็นคันบังคับน้ำจากหลักฐานจารึกหลักที่ 13 ฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร ระบุว่า “อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้น ก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้า แลหาท่อนั้นพบกระทำท่อเอาไปเลี้ยงนา”

และใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงเมืองศรีสัชนาลัยกับกำแพงเพชร โดยมีสุโขทัยเป็นจุดศูนย์กลาง ดังจะพบโอ่ง หม้อ และไหสังคโลกจากเตาหมายเลข 61 กลุ่มเตาเกาะน้อย อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งมีใช้เป็นจำนานมากที่เมืองกำแพงเพชร นั่นแสดงถึงการคมนาคมทางบกด้วยล้อเกวียนนั้นจำเป็นต้องมี

ทั้งนี้ พบว่าที่ใกล้แนวถนนพระร่วงที่ ต.นาเชิงคีรี มีปรางค์เขาปู่จ่า ที่เป็นปรางค์ขอมยุคแรกๆ สร้างด้วยการก่ออิฐแบบเดียวกับปราสาทแม่บุญตะวันตก (เสียมราฐ) ราว พ.ศ. 1500 นับว่าเป็นปรางค์ที่มีอายุมากที่สุดในสุโขทัย คือมีอายุราว 900-1,000 ปี การใช้อิฐก่อสร้างเป็นความเชื่อเฉพาะยุคสมัยแห่งความเชื่อในศาสนาฮินดู

ต่อมาอาจเกิดวิกฤตการณ์ทางความเชื่อขึ้น จึงทำให้รูปเคารพในศาสนาฮินดูถูกทุบทำลาย และผู้คนหันมานับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน ดังจะพบว่ามีการสร้างพระพุทธรูปนาคปรกขึ้น รวมถึงหันมาใช้หินในการก่อสร้างศาสนสถาน ซึ่งใน ต.นาเชิงคีรี พบว่ามีชุมชนโบราณอาศัยอยู่กันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว

จากการสำรวจพบเครื่องมือขวานหินขัด กลองมโหระทึก กำไลสำริด รูปเคารพพนัสบดี และยังพบมีแหล่งสกัดหินชนวนเนื้อละเอียดสำหรับใช้สร้างรูปเคารพ แผ่นจารึก รวมถึงชิ้นส่วนประกอบการก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ ด้วย ซึ่งจำเป็นต้องใช้การขนส่งผ่านทางถนนพระร่วง

“การที่มีต้นตาลจำนวนมากอยู่สองข้างถนนพระร่วงโบราณ ประกอบกับผู้คนยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมนั้น ถือเป็นมรดกอันทรงคุณค่า และน่าสนใจอย่างยิ่ง”

อนึ่ง การศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณสุโขทัยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างน้อย โดยในปี พ.ศ. 2376 “วชิรญาณภิกขุ” หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขณะทรงผนวชได้จาริกธุดงค์มายังเมืองโบราณสุโขทัย และพบศิลาจารึกกับพระแท่นมนังคศิลาบาตร

ต่อมาพบว่ามีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์บันทึกถึง “เสด็จไปเที่ยวประภาษพบแท่นสีลาแห่งหนึ่งอยู่ริมเนินปราสาทก่อไว้เปนแท่นหักพังลงมาตะแคงอยู่ที่เหล่านั้น ชาวเมืองเขาเครพย์ (เคารพ) สำคัญเป็นสานเจ้า เขามีมวยสมโพธทุกปี” และ “น้ำจากโซกชมพู่มีรสชาติดี รวมถึงโปรดให้ตักน้ำไปถวาย”

และในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารได้เสด็จมาทรงศึกษาตั้งแต่เมืองโบราณกำแพงเพชร สุโขทัย และศรีสัชนาลัย โดยเสด็จมาตามเส้นทางถนนพระร่วง และได้มีพระราชวินิจฉัยไว้เบื้องต้น โดยจารึกลงหลักศิลาไว้เป็นที่ระลึกทั้ง 3 เมือง ซึ่งต่อมามีการตีพิมพ์บันทึกพระราชหัตถเลขา “เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง” อันเป็นแนวทางศึกษาประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง









นายประครอง สายจันทร์ รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.4)
กำลังโหลดความคิดเห็น