สุโขทัย - “นายกนาเชิงคีรี” ร่วมกับนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พาสื่อฯ สำรวจแหล่งสกัดหินชนวนขนาดใหญ่กลางป่าเขาหลวง เชื่อเป็นแหล่งหินใช้สร้างเมืองสุโขทัย “มรดกโลก”
วันนี้ (17 เม.ย.) นายบุญส่ง ชำนาญเสือ นายก อบต.นาเชิงคีรี ร่วมกับนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นำผู้สื่อข่าวเข้าสำรวจแหล่งสกัดหินโบราณที่มีการค้นพบบริเวณกลางป่าบนภูเขา “หินชุ” หมู่ที่ 8 ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย โดยเดินทางด้วยรถยนต์เริ่มจากแนวถนนพระร่วงโบราณ แยกเข้าไปตามถนนหมู่บ้านน้ำลาด ก่อนเดินเท้าต่อไปตามทางล้อเกวียนโบราณจะพบภูเขาหินชุ สูงประมาณ 50 เมตร
จากการสำรวจพบว่ามีร่องรอยการสกัดหินกระจายอยู่ทั่วบริเวณรอบภูเขา โดยมีทั้งการสกัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ขนาด 23x35 เซนติเมตร และยังมีรูปทรงกลม ทรงใบเสมา และอ่างหิน จำนวนมากด้วย
นายบุญส่งกล่าวว่า ร่องรอยที่พบน่าจะเป็นการสกัดหินไปใช้ของคนสมัยโบราณ เพราะแหล่งนี้มีหินชนวนเนื้อละเอียดที่มีความคล้ายกับรูปเคารพ “พระแม่ย่า” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง รวมถึงสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของเมืองเก่าสุโขทัยด้วย นอกจากนี้ยังมีการค้นพบซากโบราณสถานอีกหลายแห่ง เช่น ทางทิศเหนือของภูเขาหินชุ คือ “ด่านระกา” มีสภาพเป็นช่องเขา พบกองหินเรียงเป็นเจดีย์ น่าจะเป็นจุดเก็บจังกอบ (ภาษี) ของป่าจากเขาหลวง
ส่วนบริเวณลานโล่งด้านหน้าภูเขาหินชุ คือ “ทุ่งตีคลี” ตามตำนานเล่าว่า “พระร่วง” ได้วิ่งว่าวมาตามถนนพระร่วง พลันสายว่าวขาดหลุดลอยไปจึงได้ชวน “พระลือ” ผู้น้อง เล่นตีคลี (โปโลบนหลังช้าง) จึงทำให้ป่าโล่งเตียนไม่มีต้นไม้ขึ้น ซึ่งสถานที่อ้างถึงตำนานพระร่วงนี้ ทาง อบต.นาเชิงคีรี และ อพท.4 จะร่วมกันส่งเสริมเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ตามแนวทางประชารัฐต่อไป
ด้าน อ.เคียง ชำนิ นักประวัติศาสตร์สุโขทัย ผู้ได้รับรางวัลวัฒนคุณาธร ซึ่งร่วมเดินทางมาครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า พื้นที่ ต.นาเชิงคีรี ที่อยู่ด้านหน้าติดกับเขาหลวงสุโขทัย ยังมีการค้นพบเครื่องมือขวานหินขัดโบราณ แสดงถึงการเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีวิวัฒนาการเรื่อยมา จาการค้นพบกำไลสำริด กลองมโหระทึก รูปเคารพพนัสบดี เจดีย์เรียงหินโบราณ ปรางค์เขาปู่จ่า และพระพุทธรูปนาคปรก อีกทั้งในศิลาจารึกก็ยังกล่าวถึง “พระขพุง ผีเทพยดา ในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผี ในเมืองนี้” แสดงถึงความเชื่อของผู้คนมีวิวัฒนาการ ทั้งผี พราหมณ์ และพุทธ อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง
“แหล่งสกัดหินที่เขาหินชุ อยู่ข้างลำห้วยแยง เหมาะสมในการตั้งชุมชน เมื่อสกัดหินได้แล้ว น่าจะนำมาพักไว้ที่ทุ่งตีคลี จึงทำให้มีสภาพเป็นลานโล่ง ก่อนจะลำเลียงเอาหินไปใช้แกะสลัก หรือก่อสร้างต่างๆ
ตามแนวเส้นทางถนนพระร่วงโบราณ และเป็นเรื่องดีมากที่จะมีการส่งเสริมให้เป็นจุดศึกษาเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในเร็วๆ นี้ด้วย”