xs
xsm
sm
md
lg

สุดประทับใจ...ชาว ต.มาบแค จ.นครปฐม ก่อเจดีย์ทรายตามรอยพระบาท ในหลวง ร.๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครปฐม - ชาวบ้าน ต.มาบแค จ.นครปฐม ร่วมใจก่อเจดีย์ทรายเป็นรูปจำลองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวง ร.๙ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขณะที่ อบจ.นครปฐม ฟื้นฟูประเพณีลาวครั่ง เพื่อการท่องเที่ยว เนื่องในเทศกาลสงกรานต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (17 เม.ย.) ชาวบ้านในตำบลมาบแค ได้พากันรวมตัวก่อเจดีย์ทราย ที่วัดพะเนียงแตก อ.เมือง จ.นครปฐม ตามประเพณีสงกรานต์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายการก่อเจดีย์ทราย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงพระปรีชาสามารถขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้แก่พสกนิกรชาวไทยตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์

นายเสน่ห์ กือเย็น ตัวแทนชาวบ้านบอกว่า ในปีนี้ได้จัดเรื่องราวในการก่อเจดีย์ทรายในหัวข้อการเล่าเรื่องในโครงการพระราชดำริ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เช่น โครงการฝนหลวง โครงการชั่งหัวมัน โครงการปลูกหญ้าแฝก โครงการในน้ำมีปลาในนามีข้าว โครงการปลูกผักสวนครัว และยังได้ก่อกองทรายเป็นรูปหัวใจขนาดใหญ่ ที่ด้านในมีอักษรเลข ๙ อีกด้วย

“เราต้องการสื่อให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจในการร้อยดวงใจเป็นหนึ่งเดียว และตั้งใจทำสิ่งนี้เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลให้พ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ รวมทั้งยังได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ที่ได้รับแจกจากพระบรมมหาราชวังมาใส่กรอบอย่างสวยงาม เพื่อสื่อความหมายว่าพวกเราได้เดินทางไปสักการะพระบรมศพมาแล้ว จำนวน 9 ครั้ง ซึ่งแนวคิดนี้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลมาบแค รวมถึงผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทางวัดก็ให้ความร่วมมือสนับสนุนกันอย่างเต็มที่” นายเสน่ห์ กล่าว

อบจ.นครปฐม ฟื้นฟูประเพณีลาวครั่ง เพื่อการท่องเที่ยว

ในวันเดียวกัน นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานเปิดงานส่งเสริมวัฒนธรรมและฟื้นฟูประเพณีลาวครั่ง ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดนครปฐม ภายในงานมีกิจกรรม ประกอบด้วย นิทรรศการเรื่องเล่าจากหมู่บ้านตำนาน วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นลาวครั่งบ้านผักกูด การสาธิตการทำธงสงกรานต์ สาธิตการตำขนมจีน-การตำข้าว การก่อเจดีย์ทราย สาธิตการทำขนมโบราณ การละเล่นพื้นบ้าน และการฟ้อนแคน

นอกจากนี้ ยังได้จัดประเพณีแห่ธงสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวตำบลห้วยด้วน อำเภอดอนตูม ยังคงรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรม โดยเป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าแห่งวิถีประเพณีที่ดีงามของคนลาวเชื้อสายหลวงพระบาง ที่แสดงถึงภูมิปัญญาด้านงานฝีมือ งานหัตถกรรมในการปักเย็บ ตกแต่งลวดลายโบราณบนผืนผ้าอาบน้ำฝน เสื่อ อาสนะ เพื่อมอบให้วัดได้ใช้ประโยชน์ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น