xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนเชียงใหม่จัดแห่ไม้ค้ำโพธิ์ พร้อมขนทรายเข้าวัด หวังช่วยค้ำชูดวงชะตา(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชาวบ้านชุมชนเชียงใหม่ร่วมกันจัดพิธีแห่ไม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ และขนทรายเข้าวัด ตามประเพณีในช่วงปีใหม่เมือง และเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการค้ำจุนบวรพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป เพื่อความเป็นสิริมงคล และเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอด



ช่วงบ่ายวันนี้ (14 เม.ย.) ที่บริเวณหน้าโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน เชิงสะพานนวรัฐ ในตัวเมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จัดพิธีแห่ไม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ และขนทรายเข้าวัด เนื่องในช่วงงานประเพณีปีใหม่เมือง หรือสงกรานต์ ซึ่งมีการจัดขบวนแห่ทั้งหมด 5 ขบวน ได้แก่ ขบวนของคณะผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ และแขวงทั้ง 4 แขวง

เริ่มขบวนแล้วเคลื่อนผ่านสะพานนวรัฐ ไปยังถนนท่าแพ มีขบวนทั้งหมด 5 ขบวน เพื่อจะนำไปค้ำยันต้นโพธิ์ที่วัดต่างๆ 5 วัด บนถนนท่าแพ อันเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการค้ำจุนบวรพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

ทั้งนี้ ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของชาวเชียงใหม่ และภาคเหนือเกิดจากความเชื่อของชาวพุทธที่ว่า ต้นไม้ใหญ่มักมีเทวดาอารักษ์สิงสถิตอยู่ โดยเฉพาะต้นโพธิ์ ซึ่งนอกจากจะปลูกไว้ในวัดแล้ว ยังเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติ ที่พระพุทธเจ้าได้ประทับเมื่อตรัสรู้อีกด้วย ต้นโพธิ์เมื่อเจริญเติบโตจะมีกิ่งก้านสาขาทอดยาว บางกิ่งโน้มเอียงจนเกรงว่าจะหักโค่นยามลมพัดแรง จึงมีคนนำไม้ง่ามมาค้ำยันกิ่งไว้

ไม้ง่ามนั้นเรียกว่า “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” ซึ่งนอกจากจะเป็นการค้ำยันกิ่งไม่ให้ล้มแล้ว ยังมีความหมายไปถึงการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป

อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอด ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือโดยทั่วไปในกลุ่มชาวล้านนาทางภาคเหนือของไทย วัดต่างๆ ในภาคเหนือหากมีต้นโพธิ์ใหญ่ก็มักจะมีผู้นำไม้ค้ำสะหลีไปค้ำยันไว้ และในภาคกลาง หรือในกรุงเทพฯ ก็ยังพบเห็นภาพความเชื่อดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นสถานที่ที่เรียกได้ว่ามีความเชื่อ และศรัทธาในการถวายไม้ค้ำสะหลี โดยมีการจัดงานประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ที่อำเภอจอมทองมายาวนานถึง 200 กว่าปีแล้ว

ขณะที่บรรยากาศการเล่นน้ำสงกรานต์ในตัวเมืองเชียงใหม่นั้น รายงานข่าวแจ้งว่า รอบคูเมืองเชียงใหม่เต็มไปด้วยประชาชน และนักท่องเที่ยว ทั้งคนไทย และคนต่างชาติที่พากันออกมาเล่นน้ำอย่างคึกคักสนุกสนาน โดยเฉพาะที่บริเวณประตูท่าแพ ที่ถึงแม้ว่าในปีนี้จะไม่มีการจัดเวทีกิจกรรมเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีผู้คนแห่กันออกมาเล่นน้ำได้อย่างสนุกสนานเช่นเดิม










กำลังโหลดความคิดเห็น