xs
xsm
sm
md
lg

ประธานกองทุนสวัสดิการ จ.สระแก้ว ยืนยันพร้อมให้ดีเอสไอตรวจสอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สระแก้ว - ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชน ต.ตาหลังใน จ.สระแก้ว ยืนยันพร้อมให้ดีเอสไอ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเอกสารการเงินของกองทุน ขณะที่ปลัดอำเภอวังน้ำเย็น เสนอ 4 ทางออก เพื่อให้กองทุนเดินหน้าต่อไปได้ ด้าน พอช.ยินดีให้ตรวจสอบกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศเพื่อความโปร่งใส

ตามที่มีกลุ่มกรรมการ และสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ได้มายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล พร้อมทั้งได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้สอบสวนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน ว่า มีการทุจริต ทำให้เงินกองทุนหายไป สมาชิกกองทุนฯ ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 900 คน คิดเป็นเงินรวมกันประมาณ 2 ล้านบาท เพราะสมาชิกยื่นลาออกจากกองทุนแล้วไม่ได้รับเงินคืนตามระเบียบของกองทุนนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา นายวสันต์ น้อยพี ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน ได้ชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2549 สมาชิกแรกเข้ามี 13 คน สมาชิกประกอบด้วยชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ รวม 18 หมู่บ้าน มีคณะกรรมการมาจากทุกหมู่บ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีคณะกรรมการในแต่ละหมู่บ้านจัดเก็บเงินสวัสดิการเป็นรายเดือน แล้วให้คณะกรรมการนำเงินส่งกองทุนฯ ทุกเดือน ซึ่งการดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น สมาชิกได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบของกองทุนฯ ที่วางเอาไว้ จำนวนสมาชิกจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงต้นปี 2556 มีสมาชิกรวม 2,827 คน

โดยกองทุนฯ มีระเบียบการจ่ายสวัสดิการให้แก่สมาชิกในด้านต่างๆ เช่น 1.ต้องเป็นสมาชิกกองทุนฯ แล้วอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะได้รับสวัสดิการ 2.สมาชิกที่เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 2,500-12,000 บาท ตามอายุการเป็นสมาชิก 3.เจ็บป่วยช่วยเหลือไม่เกิน 10 คืนๆ ละ 100 บาท คนเฝ้าไข้ได้ 50 บาท 4.คลอดบุตรได้เงินช่วยเหลือ 500 บาท 


“แต่ระเบียบของกองทุนสวัสดิการชุมชนตาหลังใน มีความแตกต่างจากกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วไป คือ กองทุนฯ ทั่วไปเมื่อสมาชิกลาออก กองทุนฯ จะไม่คืนเงินให้สมาชิก เพราะถือว่าเป็นการทำบุญ หรือสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อนำมาช่วยเหลือกัน แต่กองทุนสวัสดิการชุมชนตาหลังใน มีระเบียบคืนเงินให้แก่สมาชิกเมื่อลาออก หากมีสมาชิกลาออกมากๆ ก็จะทำให้เงินกองทุนที่มีอยู่ลดน้อยลง ดังนั้น คณะกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดสระแก้ว จึงได้แนะนำให้กองทุนตาหลังใน จัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขระเบียบนี้” นายวสันต์ กล่าว

หลังจากนั้น ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน จึงจัดประชุมเพื่อลดรายจ่ายของกองทุนฯ ที่ศาลาอเนกประสงค์ในตำบล โดยมีการปรับแก้ระเบียบการคืนเงินให้แก่สมาชิกที่ลาออกจากกองทุน คือ 1.หากสมาชิกที่ไม่เคยได้รับสวัสดิการ เมื่อลาออกจะคืนเงินให้ 100% แก้เป็น คืนเงินให้ 80% 2.กรณีสมาชิกเคยได้รับสวัสดิการแล้ว หากลาออกจะคืนเงินให้ 90% แก้เป็น คืนเงินให้ 50% จึงทำให้คณะกรรมการบางหมู่บ้านเกิดความไม่พอใจที่มีการแก้ไขระเบียบ และเตรียมชักชวนชาวบ้านในหมู่ต่างๆ มาลาออก โดยอ้างว่ามีการแก้ไขระเบียบโดยกรรมการ และสมาชิกส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง และไม่เห็นด้วย

โดยในปี 2557 มีสมาชิกลาออกรวม 334 คน ต่อมา ในปี 2558 สมาชิกลาออกอีก 169 คน ซึ่งทางกองทุนฯ ก็ได้จ่ายเงินคืนให้ตามระเบียบใหม่ รวมสมาชิกที่ลาออกทั้งหมด (รวมสมาชิกที่ลาออกก่อนหน้านี้ 535 คน) จำนวน 1,030 คน รวมเป็นเงินที่จ่ายคืนให้สมาชิกทั้งหมด 1,591,744 บาท จึงทำให้เงินของกองทุนฯ ลดลง

ประธานกองทุนฯ ชี้แจงต่อไปว่า นอกจากนั้น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน ในช่วงที่ผ่านมา มีรายจ่ายด้านสวัสดิการค่อนข้างสูง ทำให้สถานะของกองทุนติดลบ คือ มีรายรับรวม 5,612,346 บาท แยกเป็นเงินออมวันละบาทจากสมาชิก จำนวน 2,675,516 บาท เงินสมทบของรัฐบาลผ่าน พอช. จำนวน 2,691,530 บาท เงินสนับสนุนจาก อบต.ตาหลังใน จำนวน 109,500 บาท และดอกเบี้ยจากการให้สมาชิกกู้ยืม จำนวน 135,820 บาท

ขณะที่กองทุนฯ มีค่าใช้จ่ายต่างๆ รวม 5,766,021 บาท แยกเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บป่วย ตาย รวม 3,014,255 บาท เงินกู้ 80,000 บาท สมาชิกลาออก 1,591,744 บาท คืนเงินออมผู้เสียชีวิต 200,713 บาท ค่าบริหารจัดการและอื่นๆ 879,309 บาท รวมมีรายจ่ายมากกว่ารายรับประมาณ 153,675 บาท

ต่อมา ในช่วงปลายปี 2559 คณะกรรมการบางหมู่บ้านได้พาชาวบ้านมาลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนอีก จำนวน 1,096 คน ทางกองทุนฯ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสถานะเงินกองทุนติดลบจึงไม่มีเงินจ่ายคืนให้แก่สมาชิก ประกอบกับสมาชิกที่เหลือทั้งหมดหยุดส่งเงินออมวันละบาทเข้ากองทุนฯ จึงทำให้กองทุนฯ ไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายเงินคืนให้แก่สมาชิกที่ลาออกครั้งละมากๆ (สมาชิกออมเงินรวมปีละ 365 บาทต่อคน หากเป็นสมาชิกครบ 10 ปี ก็จะมีเงินออมที่ส่งเข้ากองทุนประมาณคนละ 3,650 บาท)

ขณะเดียวกัน มีคณะกรรมการบางหมู่บ้านที่มีหน้าที่เก็บเงินสมทบรายเดือนจากสมาชิกแล้วไม่นำส่งเข้ากองทุนฯ ติดต่อกันเกินกว่า 3 เดือน จึงทำให้สมาชิกขาดจากสถานภาพการเป็นสมาชิกตามระเบียบของกองทุนฯ และจะไม่ได้รับสวัสดิการช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต ดังนั้น ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต จำนวน 2 คน ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ รวมทั้งสมาชิกที่ลาออกแล้วยังไม่ได้เงินคืนจึงได้ร่วมกันทำเรื่องร้องเรียนขึ้นมาผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอวังน้ำเย็น ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 และร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

“ผมขอยืนยันว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน มีเอกสารที่สามารถชี้แจงได้ทุกอย่าง และพร้อมที่จะให้ดีเอสไอ หรือหน่วยงานใดก็ได้เข้ามาตรวจสอบว่ามีการทุจริต หรือมีการโกงเงินสมาชิกจริงหรือไม่ และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอวังน้ำเย็น ก็ได้มาตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าไม่มีการทุจริต แต่ผมยอมรับในเรื่องการบริหารงานที่ขาดประสบการณ์ ทำให้กองทุนมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ เมื่อมีสมาชิกมาลาออกจำนวนมาก กองทุนจึงไม่มีเงินจ่ายคืน” ประธานกองทุนกองทุนฯ กล่าว

ปัจจุบัน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน มีสมาชิก จำนวน 1,164 คน มีสมาชิกที่ลาออกไปแล้วรวม 2,134 คน มีเงินเหลืออยู่ในบัญชี จำนวน 1,950.59 บาท และมีสมาชิกที่มาลาออกแล้วแต่ยังไม่ได้เงินประมาณ 900 คน คิดเป็นเงินรวมกันประมาณ 2 ล้านบาท โดยขณะนี้กองทุนฯ ไม่มีการเบิกจ่ายสวัสดิการให้แก่สมาชิกแต่อย่างใด ขณะที่สมาชิกก็ไม่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ แต่อย่างใด

นายปรัชสกุล ทิพจรูญ ปลัดอำเภอวังน้ำเย็น ได้เสนอทางออกเพื่อให้กองทุนสวัสดิการตำบลตาหลังใน เดินหน้าต่อไปได้ว่า จะต้อง 1.ให้คณะกรรมการชุดเก่าพ้นจากตำแหน่ง และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ทั้งหมด 2.สมาชิกที่จะขอลาออกให้ทยอยลาออก ไม่ใช้ลาออกพร้อมกันหลายร้อยคน เพื่อจะได้ทยอยจ่ายเงินคืน 3.คนที่ยังเป็นสมาชิกให้สมทบเงินเข้ากองทุนเหมือนเดิมเพื่อให้มีเงินหมุนเวียน และ 4.แก้ระเบียบไม่คืนเงินให้สมาชิกในกรณีลาออก

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ร้องเรียนเสนอให้มีการตรวจสอบกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศที่อยู่กว่า 6,000 กองทุน มีเงินรวมกันกว่า 10,000 ล้านบาท ว่า พอช.ยินดีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสของการดำเนินการกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ เพราะ พอช.มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนให้กองทุนสวัสดิการต่างๆ มีความเข้มแข็ง สามารถให้ความช่วยเหลือดูแลสมาชิกในชุมชน และบริหารกองทุนฯ โดยใช้หลักธรรมาภิบาล ซึ่งที่ผ่านมา กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศจะบริหารงานโดยคณะกรรมการของกองทุนฯ ที่มาจากชาวบ้านในตำบล ขณะเดียวกัน ในทุกจังหวัดก็จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนงานกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำแนะ ให้คำปรึกษา โดยมีคณะอนุกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับชาติคอยกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น