xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์ชวนส่องดูดาวพฤหัสใกล้โลกในรอบปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - นักดาราศาสตร์ชวนคนไทยร่วมส่องดูดาวพฤหัสบดี ที่จะโคจรเข้าใกล้โลกในรอบปี พร้อมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนดาวพฤหัส ที่จะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 8 เม.ย.60 นี้ด้วย

วันนี้ (7 เม.ย.) เมื่อเวลา 16.30 น. นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาว จ.ฉะเชิงเทรา และที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวเชิญชวนให้คนไทยที่มีความสนใจทางด้านดาราศาสตร์ ท้องฟ้า และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหนือท้องฟ้า ให้เฝ้าสังเกตการณ์ดูปรากฏการดาวพฤหัสบดี ที่จะโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีนี้

โดย นายวรวิทย์ ระบุว่า ปรากฏการณ์ในครั้งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเวลา 04.28 น. ของคืนวันที่ 8 เม.ย.หรือรุ่งเช้าวันที่ 9 เม.ย.นี้ ที่ดาวพฤหัสจะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดของปีที่ระยะ 667 ล้าน กม. หรือ 4.46 หน่วยดาราศาสตร์ จากปกติโดยเฉลี่ยแล้ว ดาวพฤหัสจะอยู่ไกลออกไปที่ระยะ 780 ล้าน กม. ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในกลุ่มของดาวหญิงสาว

จากการที่ดาวพฤหัสโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีครั้งนี้ จะทำให้เราสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจบนดาวพฤหัสได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือ ปรากฏการณ์จุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัส หรือ Red Spot ที่เกิดจากพายุหมุนขนาดใหญ่บนพื้นผิวของดาวพฤหัส ที่เกิดขึ้นมานานหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งในคืนวันที่ 8 เม.ย.60 เราจะสามารถสังเกตมองเห็นได้ในช่วงเวลา 19.00-21.00 น. และในวันที่ 9 เม.ย.60 จะเห็นได้ในช่วงระหว่างเวลา 04.30 ไปจนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น

นอกจากนี้ ยังจะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงบนดาวพฤหัส จากการที่ดวงจันทร์ไอโอ หนึ่งในดวงจันทร์ทั้ง 67 ดวงของดาวพฤหัส ซึ่งถือเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่หนึ่งใน 4 ของดวงจันทร์ที่มีความสำคัญของดาวพฤหัสนั้น จะโคจรผ่านหน้าดาวพฤหัส จึงจะทำให้สามารถสังเกตเห็นจุดดำเล็กๆ เคลื่อนผ่านวงแหวนเมฆด้านบนของดาวพฤหัสไปตลอดเป็นแนวยาวผ่านทางกล้องโทรทรรศน์ดูดาว ในช่วงของการเกิดปรากฏการณ์ โดยจะสามารถมองเห็นได้จากโลกของเราในช่วงเวลา 19.00-20.00 น.ของคืนวันที่ 8 เม.ย.60 นี้

และในช่วงของการเกิดปรากฏการณ์ดาวพฤหัสใกล้โลกนั้น ยังเป็นช่วงที่ดาวพฤหัสโคจรอยู่ในตำแหน่งตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ หรืออยู่ในแนวระนาบเดียวกันระหว่าง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัส แบบเป็นเส้นตรง จึงจะทำให้เราจะสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสได้ไปโดยตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดิน คือ 18.23 น. ไปจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 9 เม.ย.60 ด้วยตาเปล่า

ขณะเดียวกัน ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาประจำภูมิภาค จ.ฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่เลขที่ 999 ม.3 ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้แก่ประชาชนทางด้านดาราศาสตร์ เช่น การเรียนรู้ดูดาวบนท้องฟ้าในท้องฟ้าจำลอง การเล่าเรื่องนิทานจากดวงดาวเพื่อสร้างความสนุกสนาน และได้ความรู้แก่เยาวชน กิจกรรมชิงรางวัลและรับของที่ระลึก การดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ดูดาวบนท้องฟ้าจริง

ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป จนถึงเวลา 22.00 น. ของคืนวันที่ 8 เม.ย.60 โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ในการเข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้อีกด้วย นายวรวิทย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น