xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่เปิดสถานีวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบเรียลไทม์เตือนภัยได้ทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ม.เชียงใหม่จับมือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เปิดสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ตามโครงการวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน โดยเป็นสถานี 1 ใน 2 แห่งของภาคเหนือที่รายงานผลแบบเรียลไทม์ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลเป็นประโยชน์ในการป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันได้อย่างรวดเร็วทันการณ์

วันนี้ (31 มี.ค. 60) ที่ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ โครงการวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน ซึ่งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแห่งนี้ถือเป็นโครงการย่อยที่ 4 ของศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ที่สามารถวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 และ PM2.5 ได้ในสถานีเดียวกัน 1 ใน 2 สถานีของภาคเหนือ

ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดสร้างสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแห่งนี้เป็นการจัดสร้างสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนากับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในการดำเนินการสร้าง ซึ่งได้จัดทำระบบสาระข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 และ PM2.5 ในอากาศด้วยเครื่องตรวจจับฝุ่นละอองไร้สาย

โดยการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมี ความเป็นพิษของฝุ่นในอากาศ และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น รวมทั้งผลกระทบขั้นกลางและผลกระทบขั้นปลายที่มีผลต่อสุขภาพมนุษย์ ระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังมีการพัฒนาแบบจำลองการพยากรณ์คุณภาพอากาศ โดยนำเสนอข้อมูลผ่านทางระบบรายงานผลออนไลน์จากสถานีตรวจวัดแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ผู้รับข้อมูลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วทันเหตุการณ์

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสิ้น 3 ปี โดยจะมีการตั้งสถานีเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองในอากาศเชิงมวลแบบเรียลไทม์เพื่อเตือนภัยวิกฤตฝุ่นควัน (PM 2.5 / PM 10) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 สถานี ได้แก่ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา (ดอยสะเก็ด) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ จะมีอีก 1 สถานีที่อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน

ทั้งนี้ สถานีทั้งหมดจะมีการเสนอข้อมูลผ่านระบบรายงานผลออนไลน์จากสถานีตรวจวัดแต่ละแห่ง เพื่อให้ผู้รับข้อมูลสามารถเข้าถึงอย่างรวดเร็ว และเข้าใจง่าย สามารถเป็นข้อมูลเพื่อสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันในเขตพื้นที่ภาคเหนืออย่างจริงจังภายใต้ข้อมูลที่แท้จริง รวมถึงการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ทางศูนย์คาดหวังว่าจะมีการเพิ่มและขยายพื้นที่การติดตั้งสถานีตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองเชิงมวลเรียลไทม์เตือนภัยวิกฤตฝุ่นควัน (PM2.5/PM10) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชุมชนและท้องถิ่นในอนาคตต่อไปได้

นอกจากนี้ ระบุว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวลกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กระดับ PM10 เพราะมีขนาดเล็กกว่ากันถึง 4 เท่า และประเทศไทยไม่ได้นำมาใช้เป็นตัวชี้วัดดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งหน้ากากอนามัยทั่วไปไม่สามารถดักพวกมันได้ ทำให้มันเป็นพาหะหลักในการนำเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด เส้นเลือดในสมองแตก โรคหัวใจ และโรคทางเดินหายใจ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีสถานีตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น จึงฝากเตือนให้ประชาชนใช้หน้ากากอนามัยแบบ N95 ที่มีตัวกรองซึ่งสามารถดักฝุ่นละอองขนาดเล็กได้เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว





กำลังโหลดความคิดเห็น