xs
xsm
sm
md
lg

หมอ รพ.หนองคายยันเด็กป่วยเหงื่อเป็นเลือดจริง ทำใบส่งตัวไป รพ.ศรีนครินทร์แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หนองคาย - ผอ.รพ.หนองคายนำทีมยืนยันเด็กหญิงวัย 14 ปี ป่วยเหงื่อเป็นเลือดจริง ทำใบส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น แล้ว จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ แพทย์แนะดูแลตามอาการ อย่าเครียด สังคมต้องเข้าใจ ไม่เพิ่มความกดดันให้ผู้ป่วย


เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (31 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลหนองคาย นายแพทย์ ศุภชัย จรรยาผดุงพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย นพ.สุรพล เอียตระกูลไพบูลย์ กุมารแพทย์ และ พญ.ฤดีมน สกุลคู กุมารแพทย์ ได้แถลงข่าวกรณีเด็กหญิงพิมพ์มาดา เทียนทอง อายุ 14 ปี ชาวหนองคาย ที่ป่วยด้วยโรคเหงื่อออกเป็นเลือดและการดูแลในส่วนของโรงพยาบาลหนองคาย

นพ.ศุภชัย จรรยาผดุงพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย กล่าวว่า โรค Hematidrosis หรือโรคเหงื่อเป็นเลือดนั้นมีโอกาสพบน้อยมาก และยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค กรณีของ ด.ญ.พิมพ์มาดา เทียนทอง ถือเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเหงื่อออกเป็นเลือดรายแรกของจังหวัดหนองคาย ยืนยันว่าเด็กป่วยจริง เลือดที่ออกมาตามหู ตา จมูกที่พบนั้นเป็นเลือดจริงที่ไหลปนมากับเหงื่อ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาสำหรับคณะแพทย์ด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลหนองคายได้ทำเอกสารส่งตัวเพื่อไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น แล้ว จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง และให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลค่ายบกหวานช่วยดูแลอาการเบื้องต้นหรือด้านเอกสารร่วมด้วย

พญ.ฤดีมน สกุลคู กุมารแพทย์ กล่าวว่า สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะสัมพันธ์กับระบบประสาทที่ถูกกระตุ้น เวลามีอาการมักจะเกิดช่วงที่ภาวะความเครียด หรือหลังการออกกำลังกาย ปัจจัยทางอารมณ์จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดมีอาการ ช่วงที่มีเลือดออกผู้ป่วยต้องใช้ผ้าซับ ไม่เครียดวิตกเกินไปเพราะเลือดที่ออกปนมากับเหงื่อนั้นเป็นปริมาณน้อยกว่าการเป็นแผลสด ร่างกายสามารถสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนได้

“อาการที่มีเลือดออกจะอยู่ประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นโรคก็จะหายไปเอง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการลมชักด้วยนั้นก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เลือดออกแต่ไม่เสมอไปทุกราย” พญ.ฤดีมนระบุ

ด้าน นพ.สุรพล เอียตระกูลไพบูลย์ กุมารแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ป่วยมีเลือดออกมากผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ดูว่ามีภาวะซีดหรือไม่ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ป่วยรายใดรุนแรงจนถึงขั้นให้เลือด โรคนี้ดูแล้วเหมือนจะน่ากลัวทำให้ผู้พบเห็นหรือญาติเห็นว่าผู้ป่วยเป็นโรคที่รุนแรง

แต่ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตจากโรคนี้ ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่คือต้องให้ความเชื่อมั่นกับญาติและผู้ดูแลว่าโรคเหงื่อออกเป็นเลือดไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง สามารถหายเองได้

ผู้ดูแลต้องให้การสนับสนุนทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และดูแลจิตใจของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยอยู่ในช่วงวัยรุ่น อาจมีความเครียด วิตกกังวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เลือดออกได้ ต้องให้กำลังใจให้ผู้ป่วยอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ

กำลังโหลดความคิดเห็น