xs
xsm
sm
md
lg

ของแซบ! แต่ต้องฝ่าความมืดออกล่า "แมงกีนูน-แมงแคง" ทำเมนูเด็ดหน้าร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - มีอีก..เมนูเด็ดหน้าร้อนสุดยอดอาหารท้องถิ่นอีสาน แต่ละปีได้ลิ้มรสแค่ฤดูกาลเดียว ชาวบ้านฝ่าความมืดเข้าป่าออกล่า แมงกีนูน แมงแคง ฯลฯ เหลือจากกินกันเองในครอบครัวก็แบ่งขายทำรายได้วันละหลายร้อยบาท



ในช่วงหน้าแล้งอากาศร้อนอบอ้าวทั้งกลางวันและกลางคืน ชาวบ้านในชนบทภาคอีสานจะนิยมออกดักจับแมลงหน้าร้อน เช่น แมงกีนูน หรืออีนูน แมงแคง จักจั่น ไว้เป็นอาหาร เช่นเดียวกับชาวบ้านเหล่า ต.นาคำ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ซึ่งนิยมบริโภคแมลงเหล่านี้เช่นกัน

นายวิชิต สมรฤทธิ์ อดีตผู้นำชุมชนใน ต.นาคำ เล่าว่า บ้านเหล่ามีสภาพป่าธรรมชาติสมบูรณ์จากการอนุรักษ์ป่าชุมชนของชาวบ้าน จึงทำให้มีแมลงหลายชนิดจำนวนมากอาศัยอยู่ โดยชาวบ้านในท้องถิ่นจะรู้ว่าแมลงชนิดไหนบริโภคได้ ชนิดไหนบริโภคไม่ได้ ตลอดจนมีวิธีการดักแมลงด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การดักจับแมงแคง จักจั่น แมงกีนูน กุดจี่ แมงซอน ฯลฯ

เขายังบอกอีกว่าในช่วงกลางคืนตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงสว่างชาวบ้านจะนิยมออกหาแมลง โดยเฉพาะในคืนที่ร้อนอบอ้าวจะมีแมลงมากมายหลายชนิดเกาะตามต้นไม้ ซึ่งวิธีการดักแมงกีนูนนั้น ภูมิปัญญาชาวบ้านจะทำไม้ไผ่ยาว 7-8 เมตร ตัดก้นขวดอัดลมเปิดฝา นำถุงพลาสติกสวมก่อนนำยางรัดให้แน่นแล้วมัดติดที่ปลาย แล้วจะออกไปล่าแมลงทั้งแมงกีนูน แมงแคง ตามต้นไม้ที่แตกยอดอ่อนในพื้นที่ป่าชุมชนท้ายหมู่บ้าน

แต่ละคืนเฉลี่ยแล้วจะหาได้ 700-1,000 ตัว นำมาประกอบอาหารหลายเมนู เช่น ทอด ใส่แกงผักต่างๆ หรือตำป่น ในแต่ละปีจะหากินแมลงพวกนี้ได้ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเท่านั้น หนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียวที่จะมีโอกาสลิ้มลองรสชาติแมลงสุดแสนอร่อย ชาวบ้านหลายรายจะนำไปขาย ราคาอยู่ที่ตัวละ 1-2 บาท คิดเป็นเงินก็หลายร้อยบาท


“แมงแคง” เป็นชื่อพื้นบ้าน เช่น แมงแคง แมงแคงค้อ แมงขิว แหล่งที่พบตามต้นค้อ (ตะคร้อ) ต้นจิก ต้นฮัง และป่าเต็งรังทั่วไป ส่วนมากเจอตามต้นค้อ แมงแคงจะกินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อนต้นค้อ จึงพบได้ตามต้นค้อเป็นหลัก แต่ทางภาคเหนือ เห็นตามต้นลำไย พบได้ง่ายในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ตามต้นค้อที่กำลังงอกใบใหม่เป็นสีแดงอ่อนๆ เต็มต้น

ส่วน “แมงอีนูน” หรือกีนูน จัดเป็นแมลงศัตรูพืช กัดแทะใบของพืชที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น มะขามเทศ มะขาม อ้อย มันสำปะหลัง และพุทรา แมงอีนูนมีวงจรชีวิตเป็นหนอนอยู่ใต้ดินนานนับปี ก่อนจะเข้าสู่ระยะดักแด้และเป็นตัวเต็มวัยในช่วงต้นฤดูฝนของทุกปี ซึ่งจะพบแมงอีนูนเป็นจำนวนมากในห้วงหน้าร้อนนี้

แมงอีนูนจัดเป็นอาหารป่า เป็นที่นิยมของชาวอีสานและชาวเหนือ การจับแมงอีนูนจะจับกันในช่วงหัวค่ำ ใช้แสงไฟจากนีออนเป็นตัวล่อ หรือเขย่าจากต้นไม้ที่มีแมงอีนูนจำนวนมากอาศัยอยู่ก็จะหล่นลงมาให้จับได้ง่ายๆ ซึ่งการปรุงแมงอีนูนทำได้ทั้งวิธีการต้มและทอด ในบางพื้นที่หาเพื่อนำไปขายกันเป็นล่ำเป็นสัน



กำลังโหลดความคิดเห็น