ประจวบคีรีขันธ์ - กลุ่มคนรักทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ และชาวประมงพื้นบ้าน โวยแพขนานยนต์ขนาดใหญ่ขนดินโคลนสีดำจำนวนมาก จากการขุดลอกร่องน้ำท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ หัวหิน-พัทยา มาทิ้งบริเวณชายหาดปากน้ำปราณบุรี หวั่นกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน
วานนี้ (28 มี.ค.) สื่อมวลชนได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มคนรักทะเลและชายหาดปากน้ำปราณ และชาวประมงพื้นบ้าน ตลอดจนนักท่องเที่ยวถึงความวิตกกังวลว่า พบการนำแพขนานยนต์ขนาดใหญ่ขนดินโคลนสีดำจำนวนมาทิ้งบริเวณชายหาดปากน้ำปราณ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งทำการประมง ในเขตเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางด้านทะเล และชายฝั่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากดินโคลนมีลักษณะเป็นสีเทาดำปนทราย และมีเศษเปลือกหอยปนติดมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการสังเกตดินโคลนที่นำมาทิ้งก็จะเหมือนกับปูนซีเมนต์ผสมเสร็จ โดยไม่มีตัวแทน หรือหน่วยงานใดออกมาชี้แจง หรือแจ้งให้ทราบก่อนที่จะน้ำดินโคลนมาทิ้งบริเวณดังกล่าว
ล่าสุด นายธงชัย สุณาพันธ์ ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีปากน้ำปราณบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอปราณบุรี เทศบาลตำบลปากน้ำปราณ ทหารจากค่ายธนะรัชต์ พร้อมด้วยชาวบ้าน และชาวประมงพื้นบ้าน ตลอดจนสื่อมวลชนได้เข้ามาตรวจสอบจุดที่มีการนำเอาดินโคลนมาทิ้งที่ชายหาด พบว่า มีรถแบ็กโฮกำลังขุดหลุม และนำดินในโคลนขึ้นมาจากแพขนานยนต์ ขึ้นมาทิ้งบนสันเขื่อน ก่อนที่จะใช้รถแบ็กโฮอีกคันเกลี่ยดินโคลนลงไปบริเวณหาดทรายที่ขุดไว้ห่างจากทะเลเพียง 20-25 เมตรเท่านั้น
เจ้าหน้าทีจึงได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ ทราบ พร้อมรายงานข้อเท็จจริง โดย นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีคำสั่งให้เรือของกรมเจ้าท่า ยุติการดำเนินการดังกล่าวทันที
จาการตรวจสอบทราบว่า กรมเจ้าท่า ได้ทำการขุดลอกดินโคลนมาจากร่องน้ำท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ หัวหิน-พัทยา บ้านหัวดอน ซึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปัญหานำดินโคลนไปทิ้งในทะเล และมีการคัดค้านจากลุ่มชาวประมงพื้นบ้านหัวดอน และทางอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับทราบ และพบว่า มีการทิ้งดินโคลนลงบริเวณแนวกองปะการังเทียม และส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงชายฝั่ง และขอให้กรมเจ้าท่ายุติการขุดลอก และทิ้งดินโคลนในทะเลทันทีจนกว่าจะมีข้อสรุป โดยชาวประมงที่บ้านหัวดอน อ.หัวหิน ไม่ให้มีการนำดินโคลนมาทิ้งในทะเล แต่ให้ไปทิ้งที่บนฝั่งในบริเวณที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
จนกระทั่งล่าสุดมาพบว่า กรมเจ้าท่ามีการขุดลอกอีกครั้ง และจะนำดินโคลนจำนวน 25,000 คิว หรือเท่ากับ 37,500 ตัน มาทิ้งที่บริเวณชายหาดปากน้ำปราณ ซึ่งเป็นแหล่งเที่ยวที่สวยงาม ซึ่งถ้าไม่สังเกตจริงๆ ก็จะไม่ทราบว่ามีการนำเอาดินโคลนสีดำมาทิ้งบนชายหาด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวอยู่ลึกเข้าไปจากถนนในหมู่บ้านปากน้ำปราณเข้าไปประมาณ 400 เมตร และอยู่ติดกับแนวเขื่อนกันคลื่น และชายหาดปากน้ำปราณ
น.ส.จิราพร พุ่มจันทร์ ชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ อาชีพทำลอบปู กล่าวว่า ขณะนั่งเรือไปกับสามีเพื่อจะไปกู้ลอบปูในทะเล ระหว่างวิ่งบริเวณแนวเขื่อนกันคลื่น สังเกตเห็นแพขนานยนต์ขนาดใหญ่จอดเทียบสันเขื่อนกันคลื่น และภายในมีดินสีดำ และรถแบ็กโฮกำลังตักดินขึ้นไปทิ้งไว้บนสันเขื่อน และมีรถแบ็กโฮอีกคันคอยเกลี่ยลงไปในบริเวณหาดทราย ระหว่างนั้นมีฝนตกลงมาและเห็นน้ำสีดำไหลลงสู่ทะเล และพบว่าในระหว่างที่สามีลงไปกู้ลอบปูนั้นก็เกิดอาการคัน หลังจากนั้น จึงกลับเข้าฝั่งโดยสามีได้อาบน้ำ และทายาแก้คันทันที และจึงหวั่นว่าการนำดินโคลนมาทิ้งจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ด้าน นายเจือ แคใหญ่ ประธานชมรมประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องที่กรมเจ้าท่าไปขุดลอกร่องน้ำจากหัวหิน และนำดินโคลนมาทิ้งที่ชายหาดปากน้ำปราณแต่อย่างใด จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมเจ้าท่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายปกครอง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่า ทำไมถึงไม่มีการชี้แจงให้ชาวบ้าน และกลุ่มชาวประมงได้รับทราบก่อน ถึงแม้ที่บริเวณดังกล่าวจะเป็นของกรมเจ้าท่าก็จริง แต่บริเวณดังกล่าวถือว่าอยู่บนชายหาดปากน้ำปราณ ที่สวยงาม และหากช่วงหน้าคลื่นลมมรสุมที่มีคลื่นลมแรง ก็จะถูกคลื่นกัดเซาะ และพัดเอาดินโคลนที่ฝังไว้กลับลงในทะเล และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา
ต่อมา นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (เพชรบุรี) สั่งการให้ นายวรรณ ชาตรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำเจ้าที่เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เดินทางมาตรวจสอบบริเวณชายหาดปากน้ำปราณ จุดที่ได้รับแจ้งว่ามีแพขนานยนต์นำดินที่ขุดจากร่องน้ำท่าเทียบเรือเฟอร์รี่หัวหิน-พัทยา บ้านหัวดอน มาทิ้งที่ชายหาดปากน้ำปราณ
จากตรวจสอบพบว่า ในแพขนานยนต์ขนาดใหญ่ยังคงหลงเหลือดินโคลนปนทราย และมีเศษเปลือกหอยจำนวนมากอยู่บนแพขนานยนต์ พร้อมรถแบ็กโฮ 2 คัน และส่วนหนึ่งได้รับทราบข้อมูลว่า นำมาทิ้งบริเวณชายหาดปากน้ำปราณเป็นเวลา 2 วันแล้ว
เจ้าหน้าที่ ทช.ได้แจ้งต่อสื่อมวลชน และชาวประมงปากน้ำปราณ ว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเพิ่งได้รับแจ้งข่าวสารจากเครือข่ายสิ่งแวดล้อมของสื่อมวลชนจึงเดินทางมาตรวจสอบ ที่ผ่านมา ที่เกิดปัญหาที่หัวหิน และทางกรมเจ้าท่าได้หยุดทิ้งจนกว่าจะหาสถานที่ใหม่บนฝั่งแทน
ในส่วนแพขนานยนต์ที่บรรทุกดินโคลนจากบริเวณจุดขุดที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่มาระยะทางกว่า 10 กม.นั้น จะต้องผ่านบริเวณด้านหน้าโครงการส่วนพระองค์สวนป่าหาดทรายใหญ่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และผ่านบริเวณด้านหน้าวนอุทยานปราณบุรี แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติด้วย ซึ่งเบื้องต้น น้ำโคลนที่มากับแพขนานยนต์แน่นอนจะต้องไหลลงสู่ทะเล นอกจากนั้น บริเวณสันเขื่อนกันคลื่นจุดที่แพขนานยนต์เทียบยังมีดินโคลนจำนวนมากที่ไหลตกลงสู่ทะเลจากการตักขึ้นมาอีกด้วย
หลังตรวจสอบเสร็จแล้วได้ทำรายละเอียดทั้งหมดรายงานให้ น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ทราบแล้ว
ขณะเดียวกัน นายวิทยา ไชยานุกูลกิตติ รก.ผอ.สนง.เจ้าท่าภูมิภาค สาขาประจวบฯ กล่าวว่า วันนี้เข้ามาดูพื้นที่จุดที่เจ้าท่ามีโครงการที่ขุดลอก มีความจำเป็นที่ต้องเอาวัตถุขึ้นจากพื้นทะเล ซึ่งแต่เดิมได้ขุดไว้ที่เขาตะเกียบ ก็มีปัญหามีการร้องเรียนทำให้น้ำเสียสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบจึงหาทางขึ้นมาทิ้งบนฝั่ง บริเวณเขาตะเกียบ ก็เคยได้พาไปดูตรงจุดที่วัด
เมื่อไปดูแล้วพื้นที่ที่จะเท หรือกองตรงนั้นมีเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอ จึงเสนอไปที่สำนักศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ ที่ 6 เรามีที่อยู่ที่ปากน้ำปราณ ซึ่งเป็นท่าในอดีต เคยเป็นที่กองวัสดุจากการขุดลอกมานานแล้วในพื้นที่ตรงนี้ดูจากแนวเขื่อนออกไปประมาณ 40 เมตร ที่กันไว้เพื่อการกองวัสดุก็เลยแนะนำให้มาทิ้งตรงนี้ก็น่าจะไม่มีปัญหาก็เลยเอาโครงการมาเพื่อจะมาลงตรงนี้
สำหรับในเบื้องต้น ไม่คิดว่าจะมีผลกระทบอะไรเลยเพราะว่าเราเอาขึ้นบนบกแล้วก็ทำตามหลักวิชาการในการขุดบ่อเพื่อการกักไม่ให้น้ำเสียไหลลงทะเล เมื่อมีเหตุตรงนี้ก็จะมีการมาทำประชาคมให้ได้รับรู้ว่าเจ้าท่ามาทำอะไรตรงไหน วิธีทำทำอย่างไร
ล่าสุด นายมานพ เขม้นงาน ผอ.ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ ที่ 6 กรมเจ้าท่า สุราษฎร์ธานี ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนัดให้มาเข้าร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจในวันที่ 30 มี.ค. เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมเทศบาลปากน้ำปราณต่อไป