ซีพีเอฟเดินหน้า “โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” จ.ลพบุรี ผู้บริหารและพนักงานจิตอาสากว่า 600 คน สานพลังสร้างฝายชะลอน้ำ และเพาะกล้าไม้ เตรียมปลูกป่าภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี กำหนดพื้นที่ดำเนินการในขอบเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวรของชาติ เนื้อที่ 5,971 ไร่ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน
นายนพดล ศิริจงดี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นสานต่อภารกิจความยั่งยืนในเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม “ดินน้ำป่าคงอยู่” โดยมีเป้าหมายปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการร่วมอนุรักษ์ และฟื้นฟูพื้นที่ป่ายุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สำหรับพื้นที่ป่าต้นน้ำได้ดำเนิน “โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ภายใต้โครงการเขาพระยาเดินธง “ศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” โดยร่วมกับกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งที่ผ่านมา มีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงาน และกำหนดกิจกรรมที่สอดคล้องตามกรอบแผนงาน
ในครั้งนี้ผู้บริหาร และพนักงานจิตอาสากว่า 600 คน ร่วมแรงร่วมใจลงพื้นที่เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมรวม 20 ตัว และเพาะกล้าไม้ เตรียมปลูกป่าในโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน หลังจากที่ทำกิจกรรมครั้งแรกไปเมื่อเดือนมกราคม 2560
สำหรับความคืบหน้าจากการทำกิจกรรมครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้สร้างฝายชะลอน้ำ 4 ตัว เป็นฝายกึ่งถาวร 1 ตัว และฝายผสมผสาน 3 ตัว มีการวางระบบน้ำหยดในแปลงปลูก 57 ไร่ โดยใช้ถังขนาด 1,000 ลิตร เป็นที่พักน้ำ และใช้ศักยภาพของทีมวิศวกรซีพีเอฟมาซ่อมบำรุงระบบน้ำ และแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ขึ้นถังพักน้ำ ผลจากระบบน้ำหยด มีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง มีการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก 57 ไร่ ทำให้ต้นไม้มีอัตรารอดสูงถึง 90% การเพาะกล้าไม้ จำนวน 200,000 กล้า ซึ่งได้นำมาจัดเรียงไว้เรือนเพาะชำพร้อมสำหรับการปลูกในช่วงฤดูฝน ส่วนของการก่อสร้างอาคารสำนักงาน ระบบสุขาภิบาล มีความคืบหน้า 80%
การดำเนินโครงการดังกล่าวคาดหวังว่าพื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับการฟื้นฟูจนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ จะเป็นการเพิ่มพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้แก่ลุ่มน้ำป่าสัก ลดปริมาณน้ำไหลหลากในฤดูฝน และเพิ่มปริมาณน้ำไหลในฤดูแล้ง ลดปริมาณตะกอนที่ไหลลงแม่น้ำลำธาร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ โดยการกักเก็บไว้ในต้นไม้ อินทรียวัตถุและในดิน ลดและบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เป็นแหล่งพืชอาหาร สมุนไพร และไม้ใช้สอยให้แก่ชุมชน รวมทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้แก่เยาวชน ประชาชน เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนที่อยู่โดยรอบ
ด้าน นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า “โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” นอกจากซีพีเอฟให้การสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ติดตาม ประเมินผลด้วย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในอาณาเขต และแนวทางที่กรมป่าไม้กำหนดร่วมกันไว้ โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ดำเนินการในขอบเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวรของชาติ เนื้อที่ 5,971 ไร่ ระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559- เมษายน 2563) ซึ่งที่ผ่านมา มีพนักงานจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
“โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” จะเป็นต้นแบบในการดำเนินงานปลูกป่าถาวรอย่างเป็นระบบ สามารถวัดผ ลและประเมินผลที่ได้รับจากการดำเนินงานได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกระบวนการฟื้นฟูป่าในอนาคต และเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ” นายวุฒิชัยกล่าว
ทั้งนี้ กรมป่าไม้ ซีพีเอฟ และหน่วยงานที่ปรึกษาจะร่วมกันประเมินผลสำเร็จของการดำเนินโครงการ โดยทำการประเมินผลการฟื้นตัวของพื้นที่ป่าไม้ การกักเก็บคาร์บอน การให้บริการเชิงนิเวศ และผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่โครงการ