ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือเปิดอาคารสำนักงานใหม่ ย้ำทุ่มเทปฏิบัติการเต็มกำลังเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ เผยปีนี้เริ่มปีแรกใช้น้ำแข็งแห้งโปรยในชั้นบรรยากาศที่อุณหภูมิผกผัน แต่อยู่ในขั้นวิจัยและทดลอง
วันนี้ (27 มี.ค. 60) ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดอาคารสำนักงานศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ โดยมีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และนายปวิณ ชํานิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงานจำนวนมาก
นายจรัลธาดากล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นหน่วยงานสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศโดยใช้ “ศาสตร์ของพระราชา” ในการทำฝนหลวงและดัดแปลงสภาพอากาศ เพื่อบรรเทาภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ในยามวิกฤตให้ผ่านพ้นไปได้หลายครั้ง ดังนั้น การมีอาคารสำนักงานของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า จากนี้ไปศูนย์จะมีสำนักงานถาวรที่จะช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนภาคเหนือ รองรับการขอรับบริการฝนหลวง พร้อมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของชุมชนและอาสาสมัครฝนหลวงและถือได้ว่าอาคารหลังนี้ยังคงเป็นขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการ นักบิน นักวิทยาศาสตร์สร้างเครื่องบิน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทำฝนหลวงทุกคนอีกด้วย
ขณะที่อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเปิดเผยว่า ในปีนี้ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือได้เริ่มต้นปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและหมอกควันไฟป่าแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 60 โดยมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีการติดตามสภาพอากาศและปฏิบัติการทุกวัน รวมทั้งมีการเติมสารฝนหลวงอยู่ที่จังหวัดตากด้วย เพื่อเติมสารฝนหลวงและปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่องทันทีในวันที่สภาพอากาศเหมาะสมสำหรับปฏิบัติการเพื่อเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล
โดยจากการปฏิบัติการในช่วงที่ผ่านมาเบื้องต้นพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง ทั้งการเติมน้ำในเขื่อน, เพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่า, สลายลูกเห็บ และบรรเทาสถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ
นอกจากนี้ ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการใช้สารฝนหลวงสูตรเย็นจัดหรือน้ำแข็งแห้ง ซึ่งเป็น “ศาสตร์ของพระราชา” มาใช้ในการแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่าและคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยในวันที่สภาพอากาศแห้งและไม่สามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงได้ แต่มีสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน จะมีการขึ้นบินปฏิบัติการแล้วนำน้ำแข็งแห้งลงบนชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิผกผัน
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าชั้นบรรยากาศดังกล่าวนั้นเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้อากาศที่อยู่ข้างล่างลอยตัวขึ้นไปได้ เพราะเกิดความผกผันของอุณหภูมิที่สูงขึ้นทั้งๆ ที่ควรจะลดต่ำลงเมื่อสูงขึ้นไป จนเป็นเหตุให้เกิดการสะสมตัวของหมอกควัน ซึ่งการโปรยน้ำแข็งแห้งจะช่วยลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศลงและทำให้อากาศหรือหมอกควันที่สะสมตัวอยู่ข้างล่างสามารถลอยทะลุผ่านขึ้นไปได้และทำให้สถานการณ์หมอกควันบรรเทาลง อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการนี้ยังถือว่าอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเท่านั้น