ศูนย์ข่าวศรีราชา - สนง.บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 ร่วมกรมทรัพย์ฯ และ ม.เกษตรศาสตร์ เดินหน้าศึกษาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ขยะในทะเล และแผนศึกษาพื้นที่อ่าว ก. ทั้งอ่าวไทยตอนกลางในเขตภาคตะวันออก และอันดามัน หวังสร้างแนวทางอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน
วันนี้ (27 มี.ค.) สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) ได้จัดการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ตามโครงการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ห้องประชุมเทาทอง 5 ชั้น 3 โรงแรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี
โดยมี นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ว่า เพื่อเป็นการชี้แจงขั้นตอนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การวางร่างกรอบทิศทางในอนาคตและประเด็นยุทธศาสตร์ รวมทั้งระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนเสนอแนะแผนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ด้านต่างๆ โดยมี นายวีระ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดงาน และมีประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายวีระ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีนโยบายที่จะให้สถาบันที่มีความรู้ทางทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาศึกษาพื้นที่อ่าวไทยตอนกลางในเขตภาคตะวันออกว่ามีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร
โดยเฉพาะประเด็นการกัดเซาะชายฝั่ง ขยะในทะเล ซึ่งจะต้องทำการศึกษาในรูปอ่าว ก.ทั้งหมดและหากศึกษาแต่เฉพาะจังหวัดชลบุรีเพียงแห่งเดียวจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ซึ่งทีมงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเข้ามาศึกษา และรับฟังความคิดเห็นของชุมชนและท้องถิ่น เพื่อพิจารณาว่าปัญหาเกิดจากสิ่งใด ก่อนวางรูปแบบและแผนผังไปยังรัฐบาล เพื่อกำหนดการแก้ไขปัญหาในภาพรวม โดยหวังว่าผลการศึกษา และโครงสร้างทั้งหมดจะถูกบรรจุเป็นแผนประเทศ เพื่อกำหนดให้ท้องถิ่นได้แก้ไขในภาพรวมร่วมกัน
ขณะที่ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้จะให้ความสำคัญในระดับเชื่อมโยงตั้งแต่ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะสนับสนุนให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งความน่าสนใจของนโยบาย และแผนฉบับนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงในแง่ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สอดคล้องต่อชุมชนและสังคม
โดยเฉพาะปัญหาของแต่ละพื้นที่ทั้งอ่าวไทยตอนบน และล่าง รวมถึงอันดามัน จะมีประเด็นปัที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถที่จะใช้องค์ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องประสานความร่วมมือระหว่างกัน และให้ความสำคัญต่อการเจาะประเด็นเชิงพื้นที่ เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาและจัดการทั้งปัญหาเก่า และการวางอนาคตของประเทศ
ด้าน นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) เผยว่า กรมฯ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 ดูแล 7 จังหวัดภาคตะวันออก เนื่องจากอ่าวไทยรูปตัว ก. มีความเป็นอัตลักษณ์ และมีมิติทั้งการเป็นหาดเลน และแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่ง ดังนั้น เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน และเป็นธรรม จึงจะต้องให้สถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เข้ามาดำเนินการ และศึกษาเพื่อหาคำตอบที่แท้จริง