ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “ห้วยตึงเฒ่า” จับมือจิตอาสาเชียงใหม่นำโดรนและพารามอเตอร์มาใช้สนับสนุนปฏิบัติการลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบจุดไฟเผาป่าในพื้นที่รับผิดชอบเชิงดอยสุเทพ โดยจะมีการขึ้นบินสำรวจพื้นที่เป็นประจำทุกวัน เชื่อมั่นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สำรวจพื้นที่ได้กว้างขวางครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เข้าถึงยาก และช่วยระงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีหากพบผู้ต้องสงสัยหรือเกิดเหตุ
พันเอก สุปกรณ์ เรือนสติ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ที่เป็นช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทุกพื้นที่มีการจัดชุดลาดตระเวนป้องกันและดับไฟป่าอย่างเข้มงวด ในส่วนพื้นที่รับผิดชอบของห้วยตึงเฒ่าที่มีพื้นที่ติดกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย นั้น
นอกจากการตั้งด่านตรวจคนเข้าออกพื้นที่ที่มีเส้นทางขึ้นไปยังหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน และผ่านพื้นที่ป่า รวมทั้งจัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังและพร้อมดับไฟป่าแล้ว
ล่าสุดขณะนี้ได้มีการนำอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน และพารามอเตอร์ หรือร่มบินมาใช้ปฏิบัติภารกิจในการลาดตระเวนเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีจิตอาสาในจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับโดรนที่มีการนำมาใช้นั้นได้รับการสนับสนุนจากชมรมช่างภาพเชียงใหม่ มีประสิทธิภาพในการขึ้นบินครั้งละ 15 นาที รัศมี 2 กิโลเมตร พร้อมบันทึกภาพและถ่ายทอดสดสัญญาณภาพกลับไปที่ศูนย์บังคับการตลอดเวลา ซึ่งจะทำการขึ้นบินทุกวันและเตรียมพร้อมปฏิบัติการตลอดเวลา หากได้รับแจ้งเหตุเพื่อทำการขึ้นบินสำรวจ
ส่วนพารามอเตอร์นั้น ได้รับการสนับสนุนจากชมรมร่มบินเชียงใหม่ หรือเชียงใหม่ พารามอเตอร์ คลับ ในการนำเครื่องขึ้นบินเพื่อช่วยลาดตระเวนพื้นที่วันละ 2 รอบ ในช่วงเช้าและช่วงเย็น รวมทั้งเมื่อได้รับการร้องขอ โดยที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งแต่ละรอบที่ขึ้นบินสามารถบินได้นานครั้งละประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าวนั้น พันเอก สุปกรณ์แสดงความเชื่อมั่นว่าจะส่งผลดีต่อปฏิบัติการเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่าในพื้นที่ โดยนอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระการใช้กำลังคนในการลาดตระเวนและประหยัดเวลาในการเข้าถึงพื้นที่ที่ยากลำบากแล้ว ยังจะสามารถทำให้ขยายพื้นที่การลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังป้องกันได้กว้างขวางและครอบคลุมยิ่งขึ้น ตลอดจนยังน่าจะช่วยส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ผู้ลักลอบจุดไฟเผาป่าเกิดความเกรงกลัวมากขึ้น
และหากในกรณีที่มีการลักลอบเผาป่าไปแล้ว ก็จะช่วยทำให้สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งสืบสวนติดตามผู้ก่อเหตุได้ง่ายขึ้นด้วยเพราะสามารถบันทึกภาพได้
ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 60 เป็นต้นมา ในพื้นที่ป่ารอบห้วยตึงเฒ่าเกิดไฟไหม้ป่าแล้ว 9 ครั้ง พื้นที่เสียหายทั้งสิ้นประมาณ 50 ไร่ โดยมีทั้งไฟที่ลุกลามจากพื้นที่ด้านนอกเข้ามา และไฟที่มีการลักลอบจุดเผาในพื้นที่
ส่วนสาเหตุเชื่อว่ามาจากการจุดไฟเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ ซึ่งสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 2 ราย และมีผู้ต้องสงสัยอีกจำนวนหนึ่ง โดยนับจากที่เกิดเหตุครั้งล่าสุดเมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสกัดคนเข้าออกพื้นที่และลาดตระเวน ซึ่งปรากฏว่าไม่มีเหตุเกิดขึ้น
“เมื่อมีการนำโดรนและพารามอเตอร์มาช่วยสนับสนุนการทำงานเชื่อมั่นว่าจะยิ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นไปอีก”