บุรีรัมย์ - ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-กัมพูชาแห่ซื้อขายสินค้าในงาน “มหัศจรรย์ ของดีนครชัยบุรินทร์สู่อาเซียน ครั้งที่ 2” ที่จุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ คึกคักคาดเงินสะพัดกว่า 5 ล้าน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดน ดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น รองรับการยกระดับจากจุดผ่อนปรนช่องสายตะกูเป็นด้านผ่านแดนถาวร
วันนี้ (23 มี.ค.) นายอนุสรณ์ แก้วกังวาน ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และ พล.อ.ซอ ทาวี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมเป็นประธานเปิดงาน “มหัศจรรย์ ของดีนครชัยบุรินทร์สู่อาเซียน ครั้งที่ 2” ที่จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องสายตะกู ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าที่จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องสายตะกูให้มีมูลค่าการซื้อขายมากขึ้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการทั้งในและนอกพื้นที่ได้เข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ เพื่อสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจให้แก่ทั้งสองประเทศให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งที่สำคัญยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างประชาชนสอง ประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับการจัดงาน “มหัศจรรย์ ของดีนครชัยบุรินทร์สู่อาเซียน ครั้งที่ 2” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 มี.ค. 2560 กิจกรรมในงานประกอบด้วย การแสดงและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้า OTOP/SMEs ซึ่งเป็นสินค้าเด่นๆ ของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนทั้งสิ้น 70 คูหา และการจัดนิทรรศการสถานที่ท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา สุรินทร์ ชัยภูมิ และ จ.บุรีรัมย์
นิทรรศการผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มจังหวัดฯ รวมทั้งการแสดงของศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงเพื่อส่งเสริมการขายอีกด้วย
โดยมีส่วนราการ ข้าราชการ นักท่องเที่ยว และประชาชนทั้งชาวไทยและกัมพูชามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก คาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 4 วันจะมีเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท
นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้ว่าราการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการค้าการลงทุน ณ จุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู และเพื่อให้จุดผ่อนปรนช่องสายตะกูเป็นที่รู้จักของประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย
ขณะเดียวกันยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ไมตรีที่ดีระหว่างประชาชนสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีความก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืน และจะทำให้มีนักลงทุนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจให้แก่ทั้งสองประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ส่งผลให้จุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกูได้รับการยกระดับเป็น “ด่านผ่านแดนถาวร” ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย