xs
xsm
sm
md
lg

ทำได้ไง! เกษตรกรยิ้มออก ปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิต 12-14 ตันต่อไร่ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - สุดเจ๋ง ม.กาฬสินธุ์จับมือภาคเอกชนส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังเพิ่มผลผลิตกว่า 2 เท่า เทคนิคง่ายๆ พึ่งพาธรรมชาติ ลดใช้สารเคมี ผลผลิตสูงถึง 14 ตันต่อไร่ ส่วนต้นทุนการผลิตเหลือแค่ 3,000 บาทต่อไร่ แม้ราคามันสำปะหลังจะตกต่ำในปีนี้แต่เกษตรกรชาวกาฬสินธุ์ยังยิ้มออก แต่ขอเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ



วันนี้ (21 มี.ค.) ที่ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รศ.จิระพันธุ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง ด้วยความร่วมมือระหว่าง บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น กับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ที่ได้สนับสนุนงบประมาณ เครื่องจักร และบุคลากรร่วมทำวิจัยในพื้นที่เป้าหมาย 6 กลุ่ม เครือข่ายเกษตรกรใน 18 อำเภอ ที่มี Mr. Takashi Mimura ผู้บริหารบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ร่วมกิจกรรม และมอบเกียรติบัตรแก่เกษตรกรต้นแบบที่มีผลผลิต 12 ตันต่อไร่ขึ้นไป

โดยงานนี้ตัวแทนเกษตรกรต้นแบบได้เผยเคล็ดลับที่มาแบบหมดเปลือก ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานกว่า 500 คน

รศ.จิระพันธุ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ภายใต้โครงการจัดถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างรายได้ จากผลงานวิจัยสู่เกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จากความร่วมมือระหว่าง ม.กาฬสินธุ์ ร่วมกับบริษัทมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น โดย อ.สายัญ พันธุ์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยเรื่อง Transfer of Agriculture Production Technology Attained from Research to Farmers in Northeastern Region (Isan) to Enhance Their Production Efficiency and Income (Phase II) เป็นเงิน 1,140,000บาท

ทั้งนี้ จากข้อมูลงานวิจัยพบว่าเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์มีรายได้สุทธิเฉลี่ย 6,834 บาทต่อครัวเรือน เป็นรายได้ที่ต่ำมาก พืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง โดยพื้นที่ 300,000 ไร่เป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง แต่มีผลผลิตอยู่ที่ 3 ตันต่อไร่ ทั้งจากการทำวิจัยและสร้างเครือข่ายของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้เติมเต็มทั้งความรู้ การปฏิบัติ และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดต้นทุนการผลิต

นับว่าเกษตรกรใน จ.กาฬสินธุ์ประสบความสำเร็จที่มาจากการร่วมมือระหว่างภาควิชาการ ภาคเอกชน และเกษตรกร นอกจากนี้ ภายใต้การส่งเสริมยังทำให้เกษตรกรตื่นตัวที่จะหันมาใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์ และใช้แตนเบียนฆ่าแมลงปราบศัตรูพืชแทน ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้สารเคมีลงได้อย่างมาก

อาจารย์สายัญ พันธุ์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร กล่าวว่า ม.กาฬสินธุ์มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาการผลิตพืช และมันสำปะหลังเป็นพืชหนึ่งที่มีการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง จนได้เทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ที่เหมาะสม การผลิตมันสำปะหลังจากผลการวิจัยสู่เกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างรายได้เพิ่ม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในแปลงอย่างต่อเนื่อง

จากการดำเนินงาน เกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง เจ้าหน้าที่ของรัฐและของโรงงาน ร่วมตั้งทีมกว่า 400 คน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอย่างเป็นระบบ ตั้งเป้าเกษตรกรต้นแบบถ่ายทอดสู่เครือข่ายที่ 1 คนต่อ 500 ครัวเรือน และในปีถัดไปเกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในการผลิตมันสำปะหลังในแปลงของตนเอง ทำให้ได้ผลผลิต และรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 40

นายณรงค์วิทย์ โยธารินทร์ วัย 54 ปี เกษตรกรบ้านไค้นุ่น ต.ไค้นุ่น อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ครอบครัวปลูกมันสำปะหลังมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ร่วม 30 ปี ผลผลิตก็จะอยู่ที่ 3-4 ตันต่อไร่ ค่าแป้งเฉลี่ย 20-25 กระทั่งได้เข้าร่วมโครงการใน 1 ปี ปรากฏว่าจากแปลงต้นแบบ 10 ไร่เศษได้ผลผลิตเฉลี่ยที่ 14 ตันต่อไร่ โดยต้นทุนการผลิตก็ลดลงเพราะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีใดๆ ส่วนตัวใช้ปุ๋ยพืชสด ถือว่ายิ้มออกเป็นครั้งแรกที่ปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิตดี ในปีต่อไปคงจะขยายให้เต็มพื้นที่ 83 ไร่

ขณะที่นายประหยัด จำเริญเจือ อายุ 52 ปี เกษตรกรบ้านหนาด ต.เหนือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบความสำเร็จได้ผลผลิตเฉลี่ย 12 ตันต่อไร่ โดยปลูกมันสำปะหลัง 100 ไร่ แต่ทำสองคนกับภรรยา ใช้เครื่องจักรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการยกร่อง การปลูก และการใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ มีต้นทุนอยู่ที่ 3,000 บาทต่อไร่

ตอนนี้แบ่งขายมันสำปะหลังไปแล้วเกือบ 30 ไร่ ในราคา 1.70 บาท/ กก. มีค่าเฉลี่ยแป้งที่ 28-30 ถือว่ามีมาตรฐานสูง ซึ่งได้เริ่มเปลี่ยนการปลูกมันสำปะหลังมาได้ 5 ปี ผลผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้านนายทองสอน อุดมชัย อายุ 56 ปี บ้านสังคมพัฒนา ต.หลักเหลี่ยม อ.นามน เล่าว่า ผลผลิตที่ตนได้อยู่ที่ 13 ตันต่อไร่ สิ่งสำคัญคือการไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในไร่มัน นอกจากนี้ยังเดินสายระบบน้ำหยดทั้งแปลง ช่วยทำให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตดี ค่าแป้งสูง

เป็นการปรับเปลี่ยนการทำไร่มันสำปะหลังจากการเดินสายอบรมวิชาการมาหลายที่ กระทั่งเข้าร่วมโครงการฯ และเริ่มลงมือปฏิบัติ

โดยให้ความสำคัญในคุณภาพดินเป็นหลัก รองลงมาคือ สายพันธุ์ การจัดการไร่ และการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้โดยไม่ใช้แรงงานคนมากๆ อย่างแต่ก่อน

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังยังได้เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐและผู้รับผิดชอบช่วยเหลือในเรื่องของราคา เพราะตอนนี้ราคามันสำปะหลังอยู่ที่ 1.10-1.70 ต่อ กก.




กำลังโหลดความคิดเห็น